ว่อนโซเชียล! อย. มะกัน หนุนใช้ “บุหรี่ไฟฟ้า” ลดการสูบบุหรี่ สวนทางไทยควบคุมห้ามซื้อขาย “หมอประกิต” แจงเป็นการให้ข้อมูลไม่ครบ ย้ำ สหรัฐฯ ขอเริ่มคุมบุหรี่มวนก่อน ส่วนบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ควบคุม 4 ปีแรก แต่จะเน้นป้องกันการเข้าถึงเยาวชน เหตุเด็กเสพติดมากกว่าบุหรี่ ชี้ แต่ละประเทศแก้ปัญหาต่างกันตามบริบท ไทยห้ามซื้อขายดีแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) เสนอนโยบายลดปริมาณนิโคตินในบุหรี่ให้อยู่ในระดับไม่เกิดการเสพติด และเปลี่ยนให้ผู้สูบไปใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ที่จะใช้เพื่อลดการบริโภคบุหรี่ ทำให้นโยบายที่จะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าถูกชะลอไปบังคับใช้ในปี 2565 พร้อมระบุว่า นิโคตินทำให้เกิดการเสพติด แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคร้าย เช่น มะเร็ง ปอด หัวใจ ที่คร่าชีวิตผู้คน เพราะมาสารประกอบในบุหรี่และควันจากการเผาไหม้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เนื่องจากประเทศไทยมีการควบคุมห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
วันนี้ (3 ส.ค.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการหยิบยกบางส่วน ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด และอาจส่งผลกระทบให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว อย. สหรัฐฯ ไม่ได้เปิดทางให้บุหรี่ไฟฟ้า แต่ที่มุ่งควบคุมบุหรี่ซิกาแรตก่อน เพราะในสหรัฐฯพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ซิกาแรตเกือบ 5 แสนคน และที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการควบคุม ไม่มีกฎหมายจำเพาะของบุหรี่ไฟฟ้า แต่ อย. สหรัฐฯ มีอำนาจในการควบคุมนิโคตินในบุหรี่ได้ตั้งแต่ปี 2552 เพียงแต่ยังไม่มีความพร้อม กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประกาศแนวทางในการลดนิโคตินในบุหรี่ลง เพื่อไม่ให้เกิดการเสพติดและทำให้เลิกบุหรี่ง่ายขึ้น โดยแนวทางดังกล่าวจะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเร็วๆ นี้
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ส่วนบุหรี่ไฟฟ้ามีแผนว่าใน 4 ปีแรกจะยังไม่ควบคุม แต่จะป้องกันการเข้าถึงของเด็กเป็นสำคัญ เพราะหากเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า นับเป็นเครื่องส่งนิโคติน ทำให้เกิดการติดในที่สุด เพราะแม้บุหรี่ไฟฟ้าจะมีนิโคตินน้อย แต่ก็ถือว่ามี และนำไปสู่การสูบบุหรี่ซิกาแรตในอนาคต ซึ่งข้อมูลจากสหรัฐฯ พบแล้วว่า เด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงในการสูบบุหรี่ซิกาแรตเพิ่ม 4 เท่า ซึ่งเราต้องป้องกันไม่ให้เด็กๆ เข้าถึงก่อนจะไปสูบบุหรี่ซิกาแรต เห็นได้จากรายงานการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่นในสหรัฐฯ ปี 2558 พบว่า เด็กมัธยมปลาย 15,621 คน มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่ซิกาแรต โดยร้อยละ 15.8 ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ร้อยละ 7.5 ใช้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ซิกาแรต และร้อยละ 3.2 สูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ นักเรียนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ซิกาแรต มีอัตราการใช้ยาเสพติดชนิดอื่นและพฤติกรรมความเสี่ยงและความรุนแรงมากกว่า มีคู่นอนมากกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ซิกาแรต
ผู้สื่อข่าวถามว่า คนบางกลุ่มมองว่าไทยมีกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าสวนทางกับสหรัฐฯ ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกให้แต่ละประเทศเลือกแนวทางในการแก้ปัญหาเอง ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยสหรัฐฯ เริ่มจะมีการควบคุม เห็นได้จาก อย. สหรัฐฯ ซึ่งได้ตั้งองค์กรเฉพาะมาศึกษาเรื่องนิโคตินในบุหรี่ รวมทั้งการระบุว่านิโคตินจะไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาเพื่อให้คนเลิกบุหรี่ก็กำลังศึกษาวิจัยว่าเป็นอย่างไร ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างออสเตรเลีย สิงคโปร์ ห้ามขายเด็ดขาด ญี่ปุ่นห้ามขายชนิดน้ำ อังกฤษให้ขายได้แต่ควบคุมเข้มข้นมาก ส่วนไทยก็มีกฎหมายควบคุม โดยห้ามขายห้ามนำเข้า ทั้งจากประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าเมื่อ ธ.ค. 2557 และประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ ม.ค. 2558 เพราะไทยต้องยอมรับว่าหากอนุญาตจะมีปัญหาในเรื่องการควบคุม เพราะการเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนจะนำไปสู่การติดบุหรี่ซิกาแรต
ผู้สื่อข่าวถามว่า บางกลุ่มระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกให้คนอยากเลิกบุหรี่ค่อยๆ ลดปริมาณนิโคติน ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ถามว่า เรื่องการควบคุมไม่ให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนจะทำได้หรือไม่ เพราะตนยังมองว่าการควบคุมต่างๆ ของประเทศไทยก็ยังไม่ครอบคลุมพอ ดังนั้น การห้ามนำเข้าห้ามขายเป็นทางเลือกที่ดีในตอนนี้ เพราะอย่าลืมว่าปริมาณนิโคตินน้อย แต่ก็ยังมีและยังส่งผลให้เกิดการเสพติดได้