สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน สาระสำคัญห้ามจำหน่ายยาสูบแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และห้ามแบ่งขายบุหรี่ รวมทั้งห้ามนำเข้าบุหรี่ขนาดเล็กต่ำกว่า 20 มวนต่อซอง
วันนี้ (5 เม.ย.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 โดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ. ขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรียกว่า พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป อีกทั้งให้ยกเลิก พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535
สำหรับ พ.ร.บ. ยาสูบฉบับใหม่ มีบทบัญญัติ 79 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ ให้มีคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ โดยมี รมว.สาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตําแหน่ง 12 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากแต่ละด้าน 5 คน และจากการเสนอชื่อโดยองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) 4 คน ทำหน้าที่เสนอนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ กําหนดมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และการบําบัดรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของผู้เสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นหลัก รวมทั้งให้มีคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ
สำหรับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มาตรา 26 ห้ามขายหรือให้ยาสูบแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ โดยให้ผู้ซื้อแสดงบัตรประชาชนก่อนซื้อ ห้ามผู้ใดใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ขายหรือให้ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบ ส่วนมาตรา 27 ห้ามผู้ขายปลีกขายผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยใช้เครื่องขาย ขายโดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ขายนอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขายยาสูบ ขายโดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น การให้บริการ หรือสิทธิประโยชน์อื่น ขายในลักษณะที่แสดงถึงการลดราคา ณ จุดขาย ขายโดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยน เร่ขาย ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อ หรือแก่ผู้นําหีบห่อหรือสลากหรือสิ่งอื่นใดมาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ รวมทั้งห้ามแสดงราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขายในลักษณะจูงใจให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ
มาตรา 29 ห้ามผู้ใดขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในวัด สถานที่ทางศาสนา สถานบริการสาธารณสุข สถานพยาบาล ร้านขายยา สถานศึกษา สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก หรือสถานที่อื่นตามประกาศของคณะกรรมการ มาตรา 30 ห้ามผู้ใดโฆษณาหรือทําการสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมทั้ง มาตรา 39 ห้ามผู้ใดผลิตหรือนําเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อขายในราชอาณาจักร ประเภทบุหรี่ซิกาแรตที่มีขนาดบรรจุต่ำกว่า 20 มวนต่อซอง หรือต่อภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรต ห้ามไม่ให้มีการแบ่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต
ส่วนมาตรา 31 ห้ามผู้ใดแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือผู้นําเข้า แสดงสัญลักษณ์หรือสิ่งอื่นใดโดยทําให้สาธารณชนเข้าใจว่าเป็นชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือผู้นําเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในสิ่งพิมพ์ เทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือป้ายโฆษณา ในโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ หรือในการแสดง การละเล่น การประกวด การแข่งขัน การให้บริการ หรือการประกอบกิจกรรมอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และในสื่อสิ่งอื่นใดหรือสถานที่ใดที่ใช้เพื่อโฆษณาหรือทําการสื่อสารการตลาด
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายเดิมได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบทบัญญัติหลายประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งทําให้การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากโรคภัยที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ดังนั้น สมควรปรับปรุงกฎหมายทั้งสองฉบับ เพื่อกําหนดมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นทรัพยากรที่สําคัญของชาติ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาดังกล่าว