“จักกพันธุ์” ตรวจการปรับปรุงศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้ซอฟต์แวร์มีความทันสมัย รายงานแบบเรียลไทม์ พร้อมน้อมนำพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ ๙ มาใช้เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน
วันนี้ (1 ส.ค.) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสาโรจน์ สามารถ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจการปรับปรุงศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยมี นางสุทธิมล เกษสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ชั้น 6 สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการ กทม. 2 เขตดินแดง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลได้ให้งบประมาณแก่กรุงเทพมหานคร จำนวน 195 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ซึ่งในการปรับปรุงศูนย์ฯดังกล่าว กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดทำระบบที่ต้องดำเนินการทั้งหมด 12 ประการ เช่น พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้ซอฟแวร์มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งมีการสำรองข้อมูลต่างๆ ถ้าเมื่อใดระบบที่มีอยู่มีปัญหา หรือ ระบบเกิดล่ม จะมีระบบที่สามารถสำรองข้อมูลไว้ได้ และการจัดทำข้อมูลเพื่อประมวลผลสำหรับการแก้ไข หรือวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ประเด็นสำคัญที่ผ่านมาหากระบบสื่อสารเกิดขัดข้องจะไม่สามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ ซึ่งระบบที่ทำใหม่ขึ้นมานั้นจะเป็นตัวสำรองข้อมูล
เมื่อมีรายงานปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง ถึงแม้ในขณะนั้นยังไม่สามารถรับทราบข้อมูล แต่ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้ เมื่อระบบสามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม การรายงานของเจ้าหน้าที่ในภาคสนามก็จะปรากฏขึ้นมาด้วย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการวางสายเคเบิ้ลใยแก้วจากสถานีต่างๆ เพื่อวัดปริมาณน้ำฝน จำนวน 131 สถานี สถานีตรวจวัดระดับน้ำในคลอง จำนวน 263 สถานี และสถานีวัดอัตราการไหลของน้ำ จำนวน 32 สถานี ซึ่งการรายงานจะเป็นลักษณะเรียลไทม์ สามารถทราบข้อมูลทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ปริมาณน้ำที่อยู่ในคลอง อัตราการไหลของน้ำ ในขณะเดียวกัน สามารถทราบได้ว่าปริมาณฝนที่ตกลงมาในขณะนี้ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นผิวจราจรตรงจุดใดบ้าง
จากก่อนหน้านี้ต้องรอเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่และรายงานกลับมาให้ทางศูนย์ฯ ทราบ ซึ่งหลังจากที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงศูนย์ฯ แล้ว จะทราบทันทีว่าในขณะนี้มีปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณใด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ไปอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ก่อนฝนตกอยู่แล้ว แต่บางครั้งจุดที่เป็นปัญหาน้ำท่วมขังกรุงเทพมหานครก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ เพราะเนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่า อัตราความแรงของน้ำฝน ปริมาณของน้ำฝนที่ตกลงมาจะเป็น 100 มม. หรือ 60 มม. หากกรณีที่ฝนตกลงมาบริเวณที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เข้าพื้นที่ ศูนย์ฯ ก็จะทราบและแจ้งผู้ปฏิบัติงานได้ทันที
นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า การปรับปรุงศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครนั้น ได้มีการพัฒนาสถานีเป็นศูนย์ต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งได้นำเอาโครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งหมด 7 พื้นที่ เพื่อให้ประชาชนที่มาเยี่ยมชมศูนย์ฯได้รับทราบว่าพระองค์ท่านได้ทรงมีแนวคิดให้กรุงเทพมหานครมีแนวทาง การป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย สำหรับพื้นที่ ทั้ง 7 พื้นที่ ประกอบด้วย 1. ภาพแห่งความทรงจำเสด็จเปิดศูนย์ควบคุมป้องกันน้ำท่วม 2. ควบคุมน้ำให้ได้ดั่งประสงค์ ซึ่งในพื้นที่นี้จะมีการตั้งคำถามไว้ 19 คำถาม อาจจะเป็นคำถามที่ประชาชนทั่วไปอยากรู้ คำตอบจะเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริที่ได้วางไว้ให้กรุงเทพมหานครนำไปดำเนินการแก้ไข 3. ประมวลพระราชดำรัส ซึ่งมีอยู่ 64 ตอน 4. บันทึกเหตุการณ์สำคัญ 5. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริคลี่คลายปัญหาน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6. ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และ 7. การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ
ด้าน รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์บริหารจัดการน้ำซึ่งกรุงเทพมหานครได้น้อมนำพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ ๙ มาใช้เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน เนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระองค์ท่านเสด็จฯมาเปิดศูนย์แห่งนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่เพื่อระลึกถึงพระองค์ท่าน และเพื่อให้เห็นว่าพระองค์ท่านให้ความสำคัญกับระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบบำบัดน้ำเสีย และการบริหารจัดการน้ำในพื้นกรุงเทพมหานคร โดยได้นำพระราชดำรัสและพระราชดำริของพระองค์ท่านมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร ซึ่งศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งนี้จะเป็นต้นแบบ และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้