xs
xsm
sm
md
lg

แอดไลน์เลย!! “ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร” รู้ฝนตกแบบเรียลไทม์ น้ำท่วม รถติด แจ้งเตือนทุก 15 นาที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม. ประชุมเครือข่ายความร่วมมือประชาสัมพันธ์ “สถานการณ์ฝนและน้ำเร่งระบายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” เผย แนวทางในการบริหารจัดการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเร่งระบาย รณรงค์งดทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ ที่สาธารณะ ลดปัญหาการกีดขวางทางน้ำ ล่าสุด เปิดช่องทางใหม่ให้ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย รู้สถานการณ์ฝนตกแบบ Real time เพื่อเตรียมรับมือ ฝนตก น้ำท่วมขัง และ ปัญหาการจราจร เส้นทางหลีกเลี่ยง สแกนคิวอาร์โค้ด แจ้งเตือนทุก 15 นาที official line เฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ “ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร” 

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมเครือข่ายความร่วมมือประชาสัมพันธ์ “สถานการณ์ฝนและน้ำเร่งระบายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ซึ่งประกอบด้วย สื่อมวลชนแขนงต่างๆ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าวสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการ การป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนเพื่อวางแผนการเดินทาง และการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุม

โดยระบุว่า เดือน พ.ค. 60 กรุงเทพมหานคร มีฝนหนักที่สุดในรอบ 26 ปี หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศแจ้งเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2560 ปรากฏว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีฝนตกชุกหนาแน่นหลายพื้นที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2560 วันที่ 24 - 27 พ.ค. 2560 และวันที่ 30 พ.ค. 2560 โดยช่วงวันที่ 24 - 30 พ.ค. 2560 มีปริมาณฝนสะสมรวมกว่า 400 มิลลิเมตร และตลอดเดือน พ.ค. 2560 วัดปริมาณน้ำฝนสะสมได้รวม 504 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติ คือ 248 มิลลิเมตร หรือมากกว่า 2 เท่าตัว และยังเป็นการทำลายสถิตถปริมาณฝนในรอบ 26 ปี นับตั้งแต่มีการจดบันทึกปริมาณฝนของสำนักการระบายน้ำตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา

จากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำในคลองสูงทำให้การระบายน้ำล่าช้า สถานการณ์ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ถนนหลายสายมีน้ำเร่งระบาย โดยวันที่ 16 พ.ค. 2560 จุดที่มีปัญหาการระบายน้ำล่าช้าที่สุด คือ ภายในซอยสุขุมวิท 26 เนื่องจากอุโมงค์ส่งน้ำขัดข้อง ซึงปัจจุบันแก้ไขเสร็จแล้ว สามารถเดินเครื่องได้ตามปกติ นอกจากนี้ ในวันที่ 24 - 25 พ.ค. 2560 ฝนได้ตกต่อเนื่องตลอดคืนครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉลี่ย 90 - 130 มิลลิเมตร และปริมาณฝนสูงสุดวัดได้บริเวณคลองเจ้าคุณสิงห์ 169 มิลลิเมตร ทำให้มีน้ำเร่งระบายหลายพื้นที่ทั้งถนนสายหลัก และซอยย่อย อีกทั้งระดับน้ำในคลองสายหลักทุกแห่งมีระดับสูง บางแห่งล้นตลิ่ง ทำให้การเร่งระบายน้ำไปคลองสายอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เร่งรัดแก้ไขโดยใช้เครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำในคลอง และสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในการลดระดับน้ำในคลองให้เร็วที่สุด เพื่อให้คลองมีพื้นที่รองรับน้ำจากท่อระบายน้ำผิวจราจรและบ้านเรือนของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

ทาง กทม. ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯ 50 เขต และหน่วยเฉพาะกิจในจุดน้ำท่วมบ่อยครั้ง เช่น 1. ซอยชินเขต ถนนงามวงศ์วาน 2. บริเวณหน้าศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ 3. วงเวียนบางเขน เขตบางเขน 4. บริเวณหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก 5. ซอยลาซาล - แบริ่ง โดยผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องอยู่ในพื้นที่ทันที พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ปัจจุบัน กทม. ได้ระบายน้ำและลดระดับน้ำในคลองให้อยู่สภาวะปกติ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำในจุดเสี่ยงเพิ่มเติม รวมถึงติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ อีก บางพื้นที่ยังมีน้ำฝนบนผิวจราจรและซอยต่างๆ ที่จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำ เนื่องจากลักษณะพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่มต่ำ และเป็นแอ่งกะทะ ตลอดจนท่อระบายน้ำทีมีขนาดเล็ก สามารถรับน้ำฝนได้ไม่เกิน 60 มิลลิเมตร อีกทั้งยังการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รับน้ำเป็นอาคารสูงและที่อยู่อาศัยหนาแน่น ทำให้พื้นที่รับน้ำลดลง มีเพียงท่อระบายน้ำและคูคลองที่ทำหน้าที่รับน้ำฝนจากผิวจราจร อีกทั้งน้ำใช้จากบ้านเรือนของประชาชน ดังนั้น เมื่อฝนตกจึงมีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการระบายน้ำ

ด้าน กทม. เผยอีกว่า อุโมงค์ระบายน้ำ ช่วยระบายน้ำได้เร็วขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ สำหรับการทำงานอุโมงค์ระบายน้ำ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบระบายน้ำเท่านั้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ และช่วยร่นระยะทางการลำเลียงน้ำออกจากพื้นที่ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องอาศัยระบบระบายน้ำอื่นๆ เช่น ท่อระบายน้ำ คูคลอง สถานีสูบน้ำ และประตูระบายน้ำ ช่วยดึงน้ำให้เข้าสู่อุโมงค์ ด้วยเช่นกัน ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำที่เปิดใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ซึ่งมีกำลังสูบ 30 - 60 ลูกบาศก์เมตร ได้แก่ อุโมงค์ผันน้ำคลองเปรมประชากร อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงมักกะสัน และอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว (อุโมงค์พระราม 9) ส่วนอุโมงค์อื่นๆ เป็นอุโมงค์ระบายน้ำขนาดเล็ก ทำหน้าที่เสมือนท่อระบายน้ำ แต่มีระบบช่วยดันน้ำ (pipe jacking) ช่วยผลักดันน้ำลงสู่คลองให้เร็วขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่ได้เฉพาะจุด ไม่ได้ช่วยป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด เนื่องจากประสิทธิภาพของอุโมงค์ระบายน้ำ ที่มีอยู่ครอบคลุมพื้นที่เพียง 88.5 กิโลเมตร จากพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด 1,568 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม กทม. ได้ขอจัดสรรงบประมาณ แบะก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มเติม อีก 6 แห่ง โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าว ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะเปิดทดลองระบบได้ในเดือน ส.ค. 2560

นอกจากนี้ กทม. อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาและก่อสร้างระบบระบายน้ำบนถนนสายหลัก เข่นการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำด้วยวิธีดันท่อ (pipe jacking) เพื่อให้สามารับน้ำฝนได้เพิ่มเติมในปริมาณ 80 มิลลิเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะที่ 1 ในพื้นที่ลุ่มต่ำ และเป็นจุดเฝ้าระวัง ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ชั้นในรวม 11 จุด อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำ ในคลองสายหลัก เป็นเส้นทางลำเลี้ยงน้ำออกจากพื้นที่ เช่น โครงการก่อสร้างเขื่อน คลองลาดพร้าว และ คลองสอง และก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานครเพิ่มเติม อีก 6 แห่ง เพื่อช่วยเร่งผลักดันน้ำ ปัจจุบันอยู่ระหว่าง ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าว ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะเปิดทดลองระบบได้ในเดือน ส.ค. 2560






พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวชี้แจงช่องทางสื่อสารกับพี่น้องประชาชนในการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครผ่านเพจเฟซบุ๊กของท่าน โดยระบุว่า “วันนี้ผมได้เรียนเชิญสื่อมวลชนและเครือข่ายความร่วมมือเข้าร่วมประชุมหารือเรื่องการประชาสัมพันธ์สถานการณ์ฝนและน้ำเร่งระบายในพื้นที่กรุงเทพมหานครร่วมกับผู้บริหาร กทม. ซึ่งที่ผ่านมา พี่น้องสื่อมวลชนได้นำเสนอสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดเพื่อบอกข้อมูลข่าวสารไปยังพี่น้องประชาชน การหารือรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างยิ่งที่ผมจะได้นำข้อมูลต่างๆ มาพัฒนาปรับปรุงการสื่อสารข้อมูลต่างๆไปยังพี่น้องประชาชนให้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น”

“โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครได้เพิ่มช่องทางสื่อสารกับพี่น้องประชาชนหลายช่องทางด้วยกัน เพื่อที่จะรายงานสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝน พื้นที่ที่มีน้ำต้องเร่งระบาย ควรหลีกเลี่ยงเส้นทางใด แม้กระทั่งแจ้งเตือนก่อนฝนตก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนเดินทางของทุกท่าน ผมมีความห่วงใยเรื่องความเดือดร้อนจากปัญหาฝนตกน้ำท่วมขังและการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก แต่ผม และ จนท. ของ กทม. จะพยายามอย่างสุดความสามารถในการหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวให้ทุเลาเบาบางลงครับ”

สำหรับช่องทางสื่อสารของศูนย์ควมคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร มีดังนี้  เว็บไซต์ : dds.bangkok.go.th , weather.bangkok.go.th ทวิตเตอร์ : @bkk_best เฟซบุ๊ก : www.facebook.com/bkk.best ไลน์ : @ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม
เบอร์ติดต่อศูนย์ควมคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และรับเรื่องร้องทุกข์จากปัญหาการระบายน้ำ : 02-248-5115 (5 คู่สาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น