ช่วงประมาณ 1 ปีนี้ ป่าไม้ของประเทศไทยถูกทำลายลดลงกว่า 2 เท่าตัว จากปีละ 6 แสน-1 ล้านไร่ต่อปี เหลือเพียง 33,000 ไร่ต่อปี ไม่ใช่เพียงเพราะได้รัฐบาลทหารปกครองเท่านั้น หากแต่เป็นการนำแนวทางสนองโครงการพระราชดำริมาใช้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด
“ในฐานะเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เราคิดว่าสิ่งที่จะสามารถทำได้ในขณะนี้ก็คือ การปฏิบัติในหน้าที่ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยเป็นล้นพ้นให้ออกมาดีที่สุด” ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
หรือกล่าวโดยสรุป คือ การรักษาพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ให้คงอยู่ให้ได้ จากนั้นให้ดำเนินการปลูกฟื้นฟูสภาพป่าทั่วไป และป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากที่สุดโดยเร็ว เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและสมดุลธรรมชาติ ท้ายที่สุด การให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มประสานกันดำเนินงาน เพื่อเข้าแนะนำช่วยเหลือราษฎร ที่จำเป็นต้องอาศัยและดำรงชีพอยู่ในบริเวณป่า ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจและร่วมมือในการดูแลรักษาป่าไม้ ทั้งนี้ กรมป่าไม้ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาป่าไม้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาคหลายโครงการ
อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า “ขณะนี้กรมป่าไม้กำลังดำเนินนโยบายตามแผนเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 % (ป่าเพื่อการอนุรักษ์ไว้ ร้อยละ 25 ป่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ) จากที่ผ่านมากรมป่าไม้ดำเนินการตามแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย แต่นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 เป็นต้นมา ได้ดำเนินการในสองแนวทางหลัก คือ 1.การฟื้นฟูสภาพป่า 2.การเพิ่มพื้นที่ป่า
เป้าหมายภายในปีนี้จะเร่งฟื้นฟูสภาพป่าไม่น้อยกว่า 5 หมื่นไร่ และเน้นการเพิ่มพื้นที่ป่าโดยชุมชนหรือป่าเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวคิดให้ป่าสามารถเป็นเงินออมได้ด้วยหลักการขับเคลื่อนตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล เรื่องของป่าเศรษฐกิจนั้นครอบคลุมไปถึงเรื่องของการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า เช่น ไม้พยุง ไม้ยางนา ไม้สัก ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงนิเวศ เรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่าและเรื่องของการค้าจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถส่งออกไม้มีค่า สร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในทางปฏิบัติแนวทางประชารัฐที่เป็นส่วนสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างประชาคม ภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกัน ในพื้นที่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ รวมถึงในพื้นที่ชุมชนตามแนวกันชนป่า และบางบริเวณที่มีการทำการเกษตร กรมป่าไม้ก็มีแนวคิดที่จะให้เกษตรกร หรือแม้แต่หน่วยงานราชการหันมาปลูกป่า เพื่อสร้างประโยชน์ทั้งในเรื่องของไม้มีค่า และผลิตผลจากป่าซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้
“บางพื้นที่เกษตรกรปลูกพืชแล้วราคาตกต่ำก็หันมาปลูกป่าเศรษฐกิจ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อรายได้ของเกษตรกรมากกว่าผ่านการส่งเสริมของรัฐกับภาคเอกชน มีเรื่องของหลักประกันด้านราคา + ช่องทางการตลาด เรื่องนี้กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ป่าเศรษฐกิจจะเป็นประโยชน์ในหลายๆ ด้าน คือทั้งในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่า การรักษาระบบนิเวศ การสร้างรายได้ให้กับชุมชน การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว
ขณะที่ ประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเสริมว่า เมื่อปี 2554 น้ำท่วมกรุงเทพฯ เราได้เห็นคนไทยที่ไม่เคยรักกันมาก่อนก็เปลี่ยนเป็นรักกัน คอยให้ความช่วยเหลือกัน มาวันนี้ผมเห็นผู้คนจำนวนมากมายที่ท้องสนามหลวง ผมรู้สึกและเชื่อว่าทุกคนเดินทางมาด้วยจิตใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อแสดงความอาลัยในหลวง พ่อของแผ่นดิน และโครงการปลูกป่าของกรมป่าไม้ ซึ่งอาศัย 16 แนวทางการปลูกป่า ตามคำพ่อ ก็เหมือนการจุดประกายให้เป็นตัวอย่างที่ดีนำไปสู่ความสำเร็จ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะตอกย้ำให้คนไทยตระหนักว่าพวกเราต้องถวายบูชาปฏิบัติเพื่อพระองค์ท่าน
ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าไม้ 32% คิดเป็นการดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ 102.24 ล้านไร่ ส่วนหนึ่งตรึงป่าที่มีอยู่ด้วยความร่วมมือของกองทัพ กับอีกส่วนหนึ่งอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษา สำหรับป่าในประเทศไทยแบ่งเป็นป่าสงวน 59 ล้านไร่ และเป็นป่าอุทยานอีก 55 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ของสปก. อีก 30 ล้านไร่ ซึ่งตัวพื้นที่ป่าไม้ 102.24 ล้านไร่ มาจากการเฉลี่ยแบบครึ่งต่อครึ่งทั้งภายในและนอกเขตอุทยาน ทั้งนี้ ในป่าสงวน นอกเขตอนุรักษ์ มีป่าสมบูรณ์ 33 ล้านไร่ เราใช้วิธีตรึงกำลัง และรักษาไว้ให้ได้โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษา ซึ่งเราเรียกว่าโครงการ “ป่าชุมชน” ซึ่งมีพื้นที่ 26 ล้านไร่ เป็นป่าเสื่อมสภาพ เวลานี้อาศัยชุมชน ภาคเอกชนเป็นความร่วมมือของประชารัฐมาร่วมกันฟื้นฟู
ปัญหาหนักที่สุดอยู่ที่ 13 จังหวัดภาคเหนือ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 86 ล้านไร่รวมถึงป่าต้นน้ำ ในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค โครงสร้างขั้นพื้นฐานทางการเกษตร และอีกอย่างที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการฟื้นฟูป่ามาก ก็คืออันตรายของน้ำยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าหญ้า ที่ชาวบ้านใช้กันมากในภาคเหนือ มีฤทธิ์ซึมอยู่ในดินนานจนทำให้เมล็ดพันธุ์กล้าไม้ป่างอกยาก เมื่อกล้าไม้โดนสารเคมีพวกนี้ก็มักจะไม่ค่อยรอด ดังนั้นในการฟื้นฟูป่าบนที่ดินเสื่อม ซึ่งก่อนหน้าเคยเป็นที่ดินทำไร่ ทำสวนของชาวบ้านจึงลำบากมากเพราะฤทธิ์ของยา
16 แนวทางการปลูกป่า ตามคำพ่อ
1.ปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกบุกรุกแผ้วถางและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
2.ปลูกป่าตามบริเวณอ่างเก็บน้ำหรือเหนืออ่างเก็บน้ำ เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นยาวนานและยั่งยืน
3.ปลูกป่าบนภูเขาสูง เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน รวมทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
4.จำแนกสมรรถนะของที่ดินให้เหมาะสม พื้นที่ใดที่ไม่สามารถทำการเกษตรกรรมได้ให้มีการรักษาสภาพป่าไม้ และให้มีการปลูกป่าโดยใช้ไม้ 3 ชนิด ได้แก่ ไม้สำหรับใช้สอย ไม้ผล และไม้สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง
5.ในสภาพป่าเต็งรัง ป่าเสื่อมโทรมนั้น ความจริงไม่ต้องทำอะไร ป่าก็จะกลับคืนสภาพได้
6.วัชพืชคลุมพื้นที่อยู่อย่าเอาออก เพราะจะเป็นสิ่งป้องกันการเซาะพังทลายของหน้าดินเป็นอย่างดี
7.อย่าใช้ยาฆ่าวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้า เนื่องจากพิษของยาจะตกค้างอยู่ในพื้นดินเป็นเวลานาน
8.ก่อนปลูกป่าจำเป็นต้องกำจัดวัชพืช แต่วัชพืชในป่าเต็งรังในป่าต้นน้ำธารไม่ต้องขจัด
9.ปลูกป่าเสริมธรรมชาติเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
10.ปลูกป่าต้นน้ำลำธาร โดยไม่ให้มีผู้บุกรุกเข้าไปตั้งหลักแหล่งใหม่ ป่าก็จะสามารถฟื้นฟูและขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ
11.ในป่าต้นน้ำลำธารไม่ควรให้มีสิ่งปลูกสร้างอะไรทั้งสิ้น
12.ปลูกป่าเพื่อให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยให้ราษฎรในท้องที่นั้นๆ เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้ราษฎรเห็นความสำคัญของป่าและการปลูกป่า
13.ส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าร่วมในกิจกรรมตั้งแต่ต้น และมีส่วนร่วมให้มากที่สุด
14.การปลูกป่าธรรมชาติหรือปลูกป่าต้นน้ำลำธาร ควรศึกษาดูก่อนว่าพืชพันธุ์ไม้ดั้งเดิมมีอะไรบ้างแล้วปลูกแซมตามรายการชนิดต้นไม้ที่ศึกษามาได้ ไม่ควรนำไม้แปลกปลอมต่างพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาปลูก
15.การปลูกป่า ควรศึกษาพื้นที่พร้อมระบบเรื่องน้ำด้วย ในพื้นที่ภูเขาควรจะสร้างฝายแม้วหรือ Check Damเพื่อกักน้ำไว้สร้างความชุ่มชื้นให้ยาวนาน และเป็นระบบกันไฟเปียกด้วย ดังตัวอย่างที่ศูนย์ศึกษาห้วยฮ่องไคร้ ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
16.ควรปลูกแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายพร้อมทั้งรักษาหน้าดิน และสร้าง TOP-SOIL เก็บความชุ่มชื้นไว้พร้อมๆ กับการปลูกป่า