โดย...ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปัจจุบันสังคมไทยพูดกันเรื่องการนำกัญชามาใช้ประโยชน์รักษาโรคกันมากขึ้น การสร้างระบบการวิจัยเรื่องกัญชาที่เข้มแข็ง น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งที่ประเทศไทยควรลงทุนอย่างจริงจัง
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามีการใช้กัญชารักษาโรคมาไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี ในอารยธรรมตะวันออก เช่น จีน และ อินเดีย จนกระทั่งเมื่อประเทศอังกฤษเข้ายึดครองอินเดียเป็นอาณานิคม ทำให้การใช้กัญชารักษาโรคแพร่กระจายไปยังประเทศตะวันตก บริษัทยาในศตวรรษ ที่ 18 ผลิตยาจากกัญชาจำหน่าย ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของยาที่มีจำหน่ายในสมัยนั้น ต่อมามีกระบวนการบิดเบือนทำให้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยกล่าวหาว่าเป็นยาเสพติด เสพแล้วทำให้เป็นโรคจิต โดยใช้งานวิจัยที่ลำเอียงตั้งธงล่วงหน้า การคัดค้านการออกกฎหมายห้ามใช้กัญชาโรคโดยสมาคมแพทย์ในสหรัฐในยุคนั้นก็ไม่เป็นผล ทำให้การใช้กัญชารักษาโรคหยุดหายไป เพราะมีบทลงโทษ การวิจัยเรื่องกัญชาในยุคต่อมายิ่งลดน้อยลงหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ (https://goo.gl/Jtfzdy)
ต่อมาเมื่อมีอินเทอร์เน็ตทำให้องค์ความรู้เรื่องสรรพคุณของกัญชารักษาโรคแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง สถาบันทางวิชาการมากกว่า 100 แห่งทั่วโลก หันมาทำวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง ปัจจุบันมีผลการวิจัยตีพิมพ์ในฐานข้อมูลทางการแพทย์มากกว่า 20,000 เรื่อง (https://goo.gl/jSYo1Y) และมีการแก้กฎหมายให้นำกัญชามาใช้รักษาโรคใน 29 รัฐของอเมริกาและในอีกหลายประเทศ มีการทำธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มและรัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น (http://norml.org/)
ปัจจุบันในประเทศไทยมีการถกเถียงเรื่องนี้มากขึ้น มีการเรียกร้องให้แก้กฎหมายยาเสพติด เพื่อให้สามารถนำกัญชามาใช้รักษาโรคและศึกษาวิจัยการนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ (https://goo.gl/rLz5Kj)
การวิจัยเรื่องสรรพคุณของกัญชาในการรักษาโรคจะแตกต่างจากการวิจัยทางการแพทย์ในยุคปัจจุบันที่มักจะเริ่มจากการทดลองในห้องทดลอง ในสัตว์ทดลอง แล้วจึงมาทดลองในคน แต่การวิจัยเรื่องกัญชาจะเริ่มจากการสังเกตว่าประชาชนใช้กัญชารักษาตัวเองแล้วได้ผลดีในโรคอะไรบ้าง แล้วค่อยวิจัยพิสูจน์ตามมาในห้องทดลองหรือในสัตว์ทดลอง
ปัญหาสุขภาพที่มีการวิจัยพิสูจน์แล้วในต่างประเทศว่ากัญชารักษาได้ผลดี ได้แก่ อาการปวดตามอวัยวะต่างๆ อาการคลื่นไส้อาเจียนจากการให้ยาเคมีบำบัด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ลมชัก อาการกล้ามเนื้อเกร็งและสั่นจากโรคทางระบบประสาท ลดอาการทางจิตในโรคจิตเภท โรคผิวหนังอักเสบ โรคลำไส้อักเสบ โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และลดอาการลงแดงจากการหยุดยาเสพติดต่างๆ เช่น เฮโรอีน สุรา บุหรี่ ยาบ้า เป็นต้น (https://goo.gl/9qwbY2) โรคอื่นๆ ที่กำลังมีการวิจัยอย่างมากในตอนนี้ คือ การนำมาใช้รักษาโรคมะเร็ง โดยใช้ร่วมกับยาเคมีหรือสมุนไพรตัวอื่นๆ และมีการจดสิทธิบัตรเพื่อใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชารักษามะเร็งแล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา จีน ญี่ปุ่น อิสราเอล (https://goo.gl/bFEfS6)
ปัญหาของการวิจัยเรื่องกัญชารักษาโรคของไทยในปัจจุบัน คือ อุปสรรคด้านกฎหมาย ทำให้นักวิจัยไม่สนใจและไม่มีแหล่งทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอ วัตถุดิบที่นำมาวิจัยไม่มีคุณภาพ มีการปนเปื้อนเชื้อรา สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือมีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์สำคัญที่ไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากสัดส่วนของสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ THC และ CBD ของกัญชาแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกัน มีผลต่อการรักษาโรคแตกต่างกัน
การแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการนำกัญชามาศึกษาวิจัยได้อย่างสะดวกขึ้น ขจัดอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้จะช่วยทำให้ประเทศไทยก้าวทันความก้าวหน้าในเรื่องนี้ของโลก และมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของประเทศแบบพึ่งตนเองได้