เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) และ ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองตามหลักการมาตรฐานสากล OECD GLP (Organization for Economic Co-operation and Development for Good Laboratory Practice) ณ สถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร
ดร.นพจรุง กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองตามหลักการ OECD GLP เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นสำหรับการตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ ได้แก่ วัคซีน ชีววัตถุ ยา สมุนไพร อาหาร และผลิตภัณฑ์อื่นอีกหลายชนิด ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีศักยภาพในการทดสอบความปลอดภัยในระดับก่อนคลินิกที่ได้รับการรับรองว่าเป็นไปตามหลักการของ OECD GLP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบในต่างประเทศและมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลที่เป็นความลับในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์
“โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองเพื่อให้บริการได้ภายใน 3 ปี ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 จึงมีมติเห็นชอบในหลักการสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของสถานสัตว์ทดลองฯ มน. และมอบให้ สวช. ร่วมกับ มน. จัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลอง เพื่อให้บริการสำหรับการพัฒนาวัคซีน ชีววัตถุ และผลิตภัณฑ์อื่นตามนโยบายประเทศไทย 4.0” ดร.นพ.จรุง กล่าว
ด้าน ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า มน. มีประสบการณ์ด้านการดำเนินงานกับสัตว์ทดลองเพื่องานวิทยาศาสตร์มานานกว่า 15 ปี โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2545 พร้อมกับมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับก่อสร้างอาคารเลี้ยงสัตว์ทดลองและพัฒนาหน่วยงานตั้งแต่ปี 2550 - 2559 รวมประมาณ 130 ล้านบาท และเป็นหน่วยงานลำดับที่ 5 ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลในการเลี้ยงและใช้สัตว์จาก Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care : AAALAC เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา
ดร.สุชาติ กล่าวด้วยว่า จากการที่รัฐบาลตั้งเป้าประเทศไทย 4.0 โดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักเส้นแบ่งรายได้ปานกลางให้เป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง จึงมีความจำเป็นต้องมีการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนเพื่อใช้ประโยชน์ภายในประเทศ ยังจะช่วยลดการพึ่งพาแหล่งผลิตวัคซีนจากต่างประเทศและนำไปสู่การส่งออกวัคซีนของไทยไปยังตลาดต่างประเทศ ที่สำคัญยังเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองอีกด้วย
ขณะที่ ผศ.ดร.พรนรินทร์ เทพาวราพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มน. กล่าวว่า มน. ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบต่อสังคมได้ด้านการทดสอบความปลอดภัยในระดับที่ไม่ได้ทำในมนุษย์ โดยเน้นการทดสอบความปลอดภัยของวัคซีน สารชีววัตถุ สารสกัดสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ทั้งนี้การที่ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยทดสอบได้รับการรับรองตามหลักการ OECD GLP จึงส่งผลกระทบอย่างมากในการพัฒนายาหรือวัคซีน และชีววัตถุให้ครบวงจร การที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบในสัตว์ทดลองที่ มน. นับเป็นการต่อยอดพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนความมั่นคงของชาติทางด้านวัคซีนและการพึ่งตนเองได้อย่างยืน
ผอ.สถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน มน. มีโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 1. อาคารสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย สำหรับเลี้ยงสัตว์ทดลอง (กลุ่มฟันแทะ) และห้องปฏิบัติที่จะพัฒนายกระดับเป็น ABSL2 โดยเป็นอาคารปิด 2 ชั้นครึ่ง พื้นที่สำหรับการเลี้ยงและใช้สัตว์ 1,412 ตร.ม. แบ่งเป็น 36 ห้อง และพื้นที่สำนักงาน 350 ตร.ม. นอกจากนี้ ยังมีห้องปฏิบัติการทางชิ้นเนื้อ ห้องปฏิบัติการทางเคมีคลินิก ห้องคลีนรูม และห้องสนับสนุนอื่นๆ ตั้งอยู่ภายในอาคารมหาธรรมราชา มหาวิทยาลัยนเรศวร