รพ.นพรัตนราชธานี เร่งตั้งคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ เป็น “สถาบัน” ตรวจรักษาโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ พร้อมเปิดศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ ตรวจสารเคมีให้ประชาชนทั่วประเทศในปี 2561
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า งานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม รพ.นพรัตนราชธานี เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศ 15 ศูนย์ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้บริการกลุ่มคนวัยทำงานและประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคจากการทำงาน และโรคจากสิ่งแวดล้อม เช่น โรคพิษตะกั่ว โรคปอดฝุ่นทราย โรคหอบหืดจากการทำงาน โรคที่เกิดจากหมอกควันในภาคเหนือทำให้อัตราการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น หรือโรคพิษอาร์เซนิกที่เกิดในพื้นที่บางแห่งในประเทศ ซึ่งทำให้เป็นโรคมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น
นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า โรคจากการทำงานที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ โรคที่เกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ เนื่องจากการทำงานจะต้องมีการเคลื่อนไหวตลอด ต้องมีการยก เคลื่อนย้ายสิ่งของ บางครั้งมีการเคลื่อนไหวที่ผิดท่าทาง ทำให้มีอาการปวด หรืออักเสบของกล้ามเนื้อ ทำให้เส้นเอ็นมีอาการบวม มีเส้นประสาทถูกกดทับ โรคที่เป็นมาก คือ โรคปวดหลัง ซึ่งบางคนเป็นมากจนต้องนอนโรงพยาบาล รองลงมาคือ โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสสารเคมี นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโรคที่คนทำงานไม่ได้มาพบแพทย์ เนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นโรคจากการทำงาน เช่น หอบหืดจากการสัมผัสฝุ่นฝ้าย เชื้อราที่ใช้ในการทำอาหาร อาการชามือหรืออ่อนแรงจากสารเคมีบางชนิด ซึ่งขณะยังเป็นไม่มาก เมื่อหยุดงานไม่มีการสัมผัส อาการจะดีขึ้น
“โรคจากการทำงานที่เกิดบางโรคใช้เวลานาน เช่น โรคหูตึง ต้องใช้เวลา 2 - 3 ปี จึงจะเริ่มมีอาการ หรือโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเกิดจากแอสเบสตอส ต้องใช้เวลาถึง 30 ปี เมื่อมีการเปลี่ยนงานบ่อยๆ จะจำประวัติการสัมผัสไม่ได้ จึงยากต่อการวินิจฉัยโรค ดังนั้น การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ยิ่งเร็ว ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้คนทำงานมีสุขภาพดี ห่างไกลโรคที่อันตรายได้ เช่น หากมีคนทำงานแพ้สารเคมีไตรคลอโรเอธิลีน แบบรุนแรงจะถึงแก่กรรมได้ ถ้าสามารถวินิจฉัยได้เร็ว จะสามารถรักษาได้ถูกต้อง จะเห็นว่าการวินิจฉัยโรคจากการทำงานจะมีประโยชน์ ทั้งในการป้องกันและการรักษา ที่สำคัญ คนงานจะได้รับเงินชดเชยจากกองทุนเงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงานด้วย” นพ.สมบูรณ์ กล่าว
นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า คลินิกอาชีวเวชศาสตร์ รพ.นพรัตนราชธานี มีบทบาทในการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน เช่น เหตุการณ์แร่ตะกั่วที่ห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ไฟไหม้บ่อขยะที่แพรกษา จ.สมุทรปราการ การลักลอบทิ้งสารเคมีที่เขตหนองจอก กทม. เป็นต้น ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานต่อไป คือ การเตรียมตัวเป็นศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ระบุให้กรมการแพทย์รับผิดชอบเรื่องศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ ซึ่งศูนย์พิษวิทยา รพ.นพรัตนราชธานี จะเป็นศูนย์ที่รับตรวจสารเคมีในตัวของประชาชนที่มีศักยภาพมากที่สุดของ สธ. ภายในปี 2561 โดยจะรับตรวจหาสารเคมีทั่วประเทศภายในปี 2561 ทั้งนี้ รพ.นพรัตราชธานี จะพัฒนากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ให้เป็นสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม นพรัตนราชธานี ภายในปี 2560 เพื่อขยายขอบเขตให้ทำงานตอบโจทย์ของประเทศให้มากขึ้น