กุมารแพทย์ รพ.เด็ก ร้องบรรจุ “ครีมกันแดด” เข้าระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐ ช่วยป้องกันโรคกำเริบในผู้ป่วยแพ้ภูมิตัวเอง “เอสแอลอี” เหตุผู้ป่วยไวต่อแสงมากกว่าคนทั่วไป รับรังสีอัลตราไวโอเลตทำเกิดผื่นแพ้แสง อาการกำเริบรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยอยู่โซนม่วง รังสียูวีสูงกว่า 11 ตลอดปี ด้านแพทย์ผิวหนังแนะวิธีทางครีมกันแดดที่ถูกต้อง ระบุคนไทย 60% ทาครีมกันแดดไม่ถูกวิธี
นพ.กันย์ พงษ์สามารถ กุมารแพทย์โรคข้อและรูมาติสซัม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวในงานเสวนา “แดดจ๋า อย่ารังแกหนู หนูเป็นโรคเอสแอลอี” ภายในกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อการกุศล “ปันน้ำใจให้น้องครั้งที่ 4” เพื่อระดมเงินและสิ่งของเข้ากองทุนผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ว่า ผู้ป่วยเอสแอลอี กับ นักปั่นจักรยาน มีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน คือ เรื่องของการถูกแสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งในคนที่ไม่มีโรคนั้นนอกจากจะทำให้ผิวไหม้เกรียม หรือเกิดริ้วรอยก่อนวัยแล้ว ยังอาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย ส่วนในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี กลไกการกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายทำงานได้เชื่องช้ากว่าคนทั่วไป ทำให้โปรตีนในนิวเคลียสที่ตกค้างอยู่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันแอคทีฟได้ และนอกจากนี้ ผู้ป่วยเอสแอลอีมักได้รับยาสเตียรอยด์ ซึ่งทำให้ผิวหนังเปราะบางมากขึ้นด้วย จึงทำให้ผู้ป่วยเอสแอลอีมีความไวต่อแสงมากกว่าคนทั่วไป หากโดนแสงแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังสีอัลตราไวโอเลต จะไม่เพียงแต่ทำให้เกิดผื่นแพ้แสง แต่อาจทำให้โรคกำเริบรุนแรงได้อีกด้วย
“การทาครีมกันแดดอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันได้มาก แต่ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัยต่อผิวที่เปราะบางมักมีราคาแพงทำให้ผู้ป่วยที่มีฐานะไม่ดี ไม่สามารถเข้าถึงได้ ในหน้าร้อนของทุกๆ ปี จะต้องมีผู้ป่วยเอสแอลอีเกิดโรคกำเริบขึ้น อันที่จริงประเทศไทยเราอยู่ในโซนสีม่วงที่ค่าดัชนีความเข้มของรังสียูวีสูงกว่า 11 ตลอดทั้งปี จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ ครีมกันแดดที่อาจถูกมองว่าเป็นเวชสำอางค์สำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนไข้เอสแอลอี คือการป้องกันโรคกำเริบ มูลนิธิโรงพยาบาลเด็กจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อหาครีมกันแดดให้กับผู้ป่วยเหล่านี้ทุกปี จึงอยากให้คนไข้เหล่านี้สามารถรับครีมกันแดดจากระบบประกันสุขภาพของรัฐได้” นพ.กันย์ กล่าว
พญ.ปิยอร หัสดินทร ณ อยุธยา แพทย์ผิวหนัง กองแพทย์หลวง สำนักพระราชวัง กล่าวว่า วิธีเลือกครีมกันแดดคือ ให้ดูที่ค่า SPF (Sun Protection Factor) หรือ ค่าความสามารถในการป้องกันรังสี UVB ส่วน UVA ให้ดูที่ค่า PA โดยสำหรับผู้ป่วยเอสแอลอีจะแนะนำค่า SPF 50 และค่า PA +++ ขึ้นไป โดยครีมกันแดด อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ครีมกันแดดชนิดกายภาพ (Physical sunscreen) หรือแบบสะท้อนแสง จะไม่ซึมเข้าสู่ผิวหนัง เวลารังสียูวีมากระทบก็จะสะท้อนกลับไป ข้อดีคือ เหมาะกับคนที่ผิวแพ้ง่าย ผิวเด็ก แต่จะวอก ดูไม่เป็นธรรมชาติ และหลุดเร็ว อาจต้องทาบ่อยๆ อีกประเภทหนึ่ง คือ ครีมกันแดดชนิดเคมี (Chemical sunscreen) จะซึมเข้าสู่ผิว และดูดซับแสงเปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างอื่น ป้องกันไม่ให้แสงผ่านลงในชั้นผิวหนังได้ ผลิตภัณท์กันแดดหลายชนิดในท้องตลาดจึงมีทั้งสองอย่างผสมกันมากกว่าประเภทละ 2 ตัวขึ้นไป สำหรับสารเคมีที่อาจทำให้เกิดการแพ้ได้ง่ายก็ควรจะหลีกเลี่ยง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีสารพาราเบนเป็นส่วนผสม จากนั้นต้องดูว่าเป็นครีมกันน้ำ เมื่อเหงื่อออกจะได้ไม่หายไป นอกจากนี้ อาจใช้อุปกรณ์อย่างอื่นช่วย เช่น กางร่มใส่หมวก หรือใส่เสื้อแขนยาว โดยทุกวันนี้คนประมาณ 60% ใช้ครีมกันแดดไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่ากับที่ระบุไว้ การทาในปริมาณที่ถูกต้องคือประมาณ 2 มิลลิกรัมต่อเนื้อที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตร เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพตามที่เขียนไว้ที่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจอาจคำนวณง่ายๆ ว่า โดยใช้หน่วยข้อนิ้วมือ
“แสงแดดเป็นอันตรายมาก แม้แต่กับคนทั่วไปแสงแดดก็ยังมีปัญหา ดังนั้น ครีมกันแดดจึงค่อนข้างสำคัญ แต่ในปัจจุบันผู้ที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญกับการรักษามากกว่าการป้องกัน แต่ส่วนตัวคิดว่า การป้องกันจะดีกว่าการรักษา” พญ.ปิยอร กล่าว
พญ.พรเพ็ญ อัครวัชรางกูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติซัม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ที่ปรึกษาชมรมคนต่อสู้โรคเอสแอลอี กล่าวว่า สำหรับคนทั่วไปครีมกันแดดอาจจะถูกใช้เพื่อความสวยงาม แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเอสแอลอี มันคือชีวิต และแดดในเมืองไทยก็แรงมาก ทำให้คนที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคเอสแอลอีอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้เป็นเร็วมากขึ้น เวลาที่เด็กๆ โรคกำเริบ อาจจะต้องได้ยาขนานสูง บางคนได้สเตียรอยด์ หรือแรงกว่านั้น ทำให้มีผลกระทบหลายอย่าง เช่น ประจำเดือนไม่มา กระดูกพรุน หรือมีปัญหาเรื่องความสูงและความสมบูรณ์ของร่างกาย ดังนั้นตรงนี้จึงสำคัญมาก หากยากันแดดสามารถเบิกได้ในคนไข้ที่จำเป็นจะต้องใช้ เช่น ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ถ้าเขาได้รับตรงนี้ มันจะเท่ากับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของเขาได้เลย
สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือกองทุนผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตนเอง มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก สามารถบริจาคได้โดยตรงที่อาคารนริศรา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโอนเงินเข้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา รพ.ราชวิถี ชื่อบัญชี “สมทบทุนมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก” เลขที่บัญชี 051-2-09873-5 โดยระบุชื่อกองทุนโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือรหัสกองทุน A-019 และหากต้องการรับใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษี กรุณาส่งหลักฐานการโอนเงินของท่าน และส่งที่อยู่มายัง email: info@thaichf.org LineID: dr.six-shooter ทางมูลนิธิจะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ทางไปรษณีย์