โดย...นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะมีการแก้ พ.ร.บ. คือ เรื่องการร่วมจ่ายเมื่อมารับบริการ ซึ่งมีความเห็นต่างอย่างยิ่งจากทั้งสองค่าย ค่ายกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์พาณิชย์ที่มักสนับสนุนให้ร่วมจ่าย แต่ค่ายภาคประชาชนแพทย์ชนบทและเครือข่ายผู้ป่วยบอกว่าไม่ควรต้องร่วมจ่ายเมื่อป่วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีเหตุผลที่ยืนกันคนละมุม
“ว่าด้วยการร่วมจ่าย” ผมขอกลับไปที่คำถามยิงตรง ว่า “มีการร่วมจ่ายไว้ทำไม” จุดมุ่งหมายของการใช้เครื่องมือ “การร่วมจ่ายเมื่อป่วย” นี้เพื่ออะไร คำตอบนี้สำคัญในการนำมาหาข้อสรุปว่า จะร่วมจ่ายหรือไม่อย่างไร
หากจะให้ “ร่วมจ่ายเพื่อลดการมาใช้บริการที่เกินจำเป็นของผู้ป่วย” อันนี้จบแล้ว วิวาทะเรื่องนี้ชัดเจนแล้วว่า “โรงพยาบาลไม่ใช่ที่ท่องเที่ยว ใครเล่าจะอยากมาบ่อยๆ ทั้งเสียเวลาเป็นวัน เสียรายได้ เสียสุขภาพจิตจากการเห็นแต่คนเจ็บคนทุกข์” คนป่วยเขามาโรงพยาบาลเพราะป่วย แม้ว่านิยามคำว่าป่วยของหมอจะดูเบาๆ แต่คนไข้เขาอาจคิดว่าหนักก็ได้ เช่น คนไข้มาเพราะปวดหัว หมอตรวจแล้วไม่มีอะไรให้ยาพาราไปกิน แต่ที่เขามารอเป็นวันก็เพราะเขากังวลว่าเขาจะเป็นมะเร็งในสมองไหม เพราะญาติใกล้ชิดเพิ่งตายจากมะเร็งสมอง และอาการก็คล้ายๆกันเมื่อมาตรวจแล้วน่าจะไม่มีอะไรก็สบายใจกลับไป เป็นต้น แบบนี้เรียกว่าเกินจำเป็นหรือ
หากจะให้ “ร่วมจ่ายเพื่อให้ประชาชนต้องช่วยกันรักษาสุขภาพ จะได้ตระหนักไม่อยากเสียสตางค์” อันนี้ไม่จริง การจะปกป้องคนไม่ให้ป่วยต้องใช้กลไกนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่ใช้กลไกเก็บเงินคนป่วย เช่นต้องใช้กฎหมายจำกัดการใช้สารเคมีภาคเกษตรที่เป็นต้นเหตุมะเร็ง ไม่ใช่พอเขาเป็นมะเร็งแล้วให้เขามาร่วมจ่ายปัจจัยที่ทำให้คนเจ็บป่วยนั้นมีมากมาย การเก็บเงินเขาอาจเป็นการซ้ำเติม
หากจะให้ “ร่วมจ่ายเพื่อการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข คนมีร่วมจ่ายช่วยคนจน” เหตุผลนี้ค่อยยังชั่วน่าฟังที่สุดในบรรดาทุกเหตุผล แต่คำถามคือ แล้วใครละคนรวย ใครละคนพอมีรายได้และใครละคนจน จะแบ่งจะแยกอย่างไร จะเก็บค่าร่วมจ่ายใครในอัตราเท่าไหร่ ชวนให้ปวดหัว ปัจจุบันการบริจาคเงินช่วยโรงพยาบาลนั่นคือสิ่งที่คนมีช่วยคนจนอยู่แล้ว ปีหนึ่งๆ รวมทั้งประเทศก็น่าจะหลายพันล้านบาท เพียงแต่ส่วนใหญ่ตกกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
หากจะให้ “ร่วมจ่ายเพราะงบไม่พอ” อันนี้คงเป็นเหตุผลที่แท้จริง ความยากก็กลับไปที่เดิม คือ คนรวยจ่าย คนจนไม่ต้องร่วมจ่าย ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ อสม. คนที่ลงทะเบียนคนจน ยกเว้น รวมๆ ก็น่าจะกว่า 30 ล้านคน เหลือคนร่วมจ่ายราว 15 ล้านคน แต่ละคนมาใช้บริการเฉลี่ย 3 ครั้ง แปลว่า คนกลุ่มที่ร่วมจ่ายได้มาใช้บริการราว 45 ล้านครั้ง สมมติเก็บเงินร่วมจ่ายที่มารับบริการครั้งละ 100 บาท ก็จะได้เงิน 4,500 ล้านบาทต่อปี เหมือนจะมากแต่แท้จริงนี้คือเงินออมของประชาชน คือ การลดทอนความมั่นคงในชีวิตของผู้คน
เงิน 5,000 ล้านนั้น รัฐบาลหาไม่ยาก ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำอัดลมปีละ 50,000 ล้านบาท ดื่มเครื่องดื่มชาเขียว 15,000 ล้านบาท ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง 35,000 ล้านบาท รวมทั้ง 3 เครื่องดื่มทำลายสุขภาพเป็นเงินถึง100,000 ล้านบาท หากรัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มสัก 10% จะได้ภาษีมาเติมในระบบ 10,000 ล้านบาท หายังไม่พอก็เก็บเพิ่มอีก 20% เป็นเงินปีละ 20,000 ล้านบาท ดีกว่าการร่วมจ่ายมากมาย และยังช่วยลดการบริโภคอาหารที่ทำลายสุขภาพเหล่านี้ได้อีกด้วย แต่ด้วยความเกรงใจบรรดาเจ้าสัวทั้งหลาย รัฐบาลจึงเลือกที่จะให้ร่วมจ่าย รีดเลือดจากคนจนหรือชนชั้นกลางแทน
ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว คือ หัวใจของความเท่าเทียม การร่วมจ่ายจะนำมาสู่ระบบประกันสุขภาพสองมาตรฐาน ใครมีเงินร่วมจ่าย หรือจำใจต้องขายนาขายบ้านมาร่วมจ่าย อาจจะได้คิวก่อน อาจจะได้รับการรักษาที่เลือกปฏิบัติ ใครมีจ่ายได้ล้างไต ใครมีจ่ายได้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ ส่วนคนจนก็จำใจต้องรอคิวอย่างอดทน อาจได้รับบริการเกรดสองเกรดสาม ซึ่งขัดต่อหลักการสิทธิอันเท่าเทียมตามรัฐธรรมนูญ
“มีร่วมจ่ายไว้ทำไม” คำตอบชัดเจนว่า เพื่อดูดเงินจากกระเป๋าประชาชน ซึ่งก็หมายถึงเงินออมของแต่ะคนนั่นเอง และนี่คือ การคิดที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง และเป็นการตกหลุมพรางของสายที่อยากล้มหรือบอนไซบัตรทอง ฐานคิดในการแก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในครั้งนี้ ไม่ใช่การแก้เพื่อให้ดีขึ้น แต่นี่คือการแก้ให้แย่ลง จนทุกฝ่ายต่างต้องร่วมกันตะโกนว่า “เมื่อแก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า”