“สุริยะใส” เตือน กมธ.เซตซีโร่ กกต.ไม่มีความหมายถ้าไม่สังคายนาทั้งระบบ จี้สร้างธรรมาภิบาลองค์กรอิสระ แนะเอาบทเรียนวิกฤตองค์กรอิสระมาดู ไม่ใช่กลับมาถาม ปชช.ว่าถ้าไม่ดีแล้วจะทำอย่างไร
วันนี้ (11 มิ.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นว่า กรณีเซตซีโร่ กกต.จะถูกขยายเป็นปมการเมืองและการเลือกปฏิบัติ หรือถูกมองเป็นประเด็นที่มีวาระซ่อนเร้นได้ ถ้ากรรมาธิการวิสามัญฯ สนช.ไม่ออกแบบให้กระบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่ คุณสมบัติ และรวมถึงวิธีทำงานของ กกต.ที่มีธรรมาภิบาลกว่าเดิม หากการเซตซีโร่ไม่ได้สร้างความหวังความเชื่อมั่นของประชาชนมากขึ้น การเซตซีโร่ก็ไม่มีความหมายอะไร ซ้ำร้ายอาจถูกมองว่าเป็นแค่เกม หรืออคติทางการเมืองเท่านั้น
ส่วนการเซตซีโร่ กกต.จะถูกนำไปเป็นบรรทัดฐานในการเซตซีโร่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งระบบหรือไม่ เรื่องนี้คงคาดเดายากคงขึ้นอยู่กับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่ากำหนดหลักเกณฑ์แต่ละองค์กรแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งแน่นอนมีรายละเอียดต่างกันพอสมควร หรือแล้วแต่การตัดสินใจของ กมธ.แต่ละชุดว่าจะพิจารณาตัดสินใจอย่างไร
อย่างไรก็ตาม กมธ.ต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้สังคมเข้าใจให้ได้ เพราะประชาชนอาจเกิดความสับสนได้เช่นกันว่าการเซตซีโร่หรือไม่นั้น ตอบโจทย์อะไร และจะนำไปสู่การปฏิรูปองค์กรอิสระหรือไม่ หรือแค่เปลี่ยนคนเปลี่ยนกฎหมายแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถือว่ามีอำนาจมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 และฉบับ 2550 เช่น ตัด กกต.จังหวัดทิ้ง และเพิ่มอำนาจ กกต.กลาง 7 คน หรือการเพิ่มอำนาจเด็ดขาดในการปราบโกงให้ ป.ป.ช. หรือการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาจริยธรรมของนักการเมืองได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ถ้าเราดูบทเรียนวิกฤตองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 และปัญหาที่ผ่านมา มิใช่เพราะองค์กรอิสระขาดอำนาจ หากแต่เป็นเพราะขาดความเป็นอิสระ และไม่ยึดโยงกับประชาชนและสังคม ทำตัวเป็นอำนาจที่สี่ จนสุดท้ายถูกการเมืองเข้าไปควบคุมแทรกแซงในที่สุดการถ่วงดุลตรวจสอบโดยองค์กรอิสระก็ล้มเหลว
“ผมหวังว่า กมธ.ต้องเอาบทเรียนในอดีตมาพิจารณา เมื่อท่านมีบทเรียนมีโอกาสและมีอำนาจในมือก็ต้องสร้างองค์กรอิสระที่มีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง และไม่ต้องมาผลักภาระให้ประชาชนอีกว่าถ้าองค์กรอิสระไม่มีธรรมาภิบาลแล้ว ประชาชนจะทำอย่างไรกัน”