xs
xsm
sm
md
lg

7 พฤติกรรมแย่ๆ ที่คุณควรเปลี่ยน ก่อนภัยสุขภาพจะถามหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขึ้นปีใหม่ทั้งที ใครหลายๆ คน อาจตั้งปณิธาน หรือสัญญากับตัวเองว่า จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ได้ เพื่อให้ตัวเองเป็นคนใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ใครหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไร เพื่อให้เป็นคนใหม่ที่มีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง

ในโอกาสเทศกาลปีใหม่ 2560 นี้ ทีมข่าวสาธารณสุข ขอรวบรวม 7 พฤติกรรมที่หากคุณยังไม่ยอมเปลี่ยน รับรองว่า กระทบต่อ “สุขภาพ” ของคุณในปีหน้าแน่นอน

1. พฤติกรรมเนือยนิ่ง “หน้าติดจอ บั้นท้ายติดเก้าอี้”

พฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ มีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายน้อย สาเหตุหลักๆ มาจากการเรียนและการทำงาน ที่แต่ละวันก็ใช้เวลาไปกับการนั่งเรียน นั่งทำงาน แล้ว พอหมดเวลาการเรียน หรือการทำงาน ก็ยังมีพฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ เสพติดโซเชียลอีก หรือเรียกว่า สังคมก้มหน้านั่นเอง รวมไปถึงการอ่านหนังสือ นั่งเล่นเกม หรือดูโทรทัศน์มากจนเกินไป ล้วนแต่ทำให้คนไทยเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่งขึ้นทั้งนั้น

ทั้งนี้ การขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 6 ของประชากรทั่วโลก และเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคไม่ติดต่อต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และ โรคเบาหวาน โดยการไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย อาทิ นั่งทำงานตลอดเวลา มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคได้เท่ากับหรือมากกว่าการสูบบุหรี่เลยทีเดียว

การแก้พฤติกรรมเนือยนิ่ง คือ ต้องลุกขึ้นมามีกิจกรรมทางกาย หรือออกกำลังกาย ซึ่งที่ผ่านมา มักได้ยินว่า คนที่มีน้ำหนักปกติควรมีการออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาทีต่อวัน ส่วนคนที่จะลดน้ำหนักควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 - 6 วัน วันละ 45 นาที แต่อย่าว่าแต่ออกกำลังกายเลย แค่จะขยับตัวหลายคนยังขี้เกียจ ล่าสุด การรณรงค์ได้เปลี่ยนเป็นการสนับสนุนให้คนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอต่อสุขภาพนั้น องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ในผู้ใหญ่ ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์ เด็กและวัยรุ่นควรกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง 60 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งการเพิ่มกิจกรรมทางกายสามารถทำได้ง่ายๆ เช่น หันมาเดินมากขึ้น ใช้บันได้แทนการใช้ลิฟต์ การเดินเปลี่ยนคาบเรียน การลุกขึ้นยืดเหยียดระหว่างการประชุม หรือแม้แต่การทำงานงานบ้าน ก็ถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายได้อีกทางหนึ่ง

ปีใหม่นี้ใครไม่อยากเผชิญต่อโรคต่างๆ ก็เลิกพฤติกรรมเนือยนิ่งเสีย แล้วหันมาเพิ่มกิจกรรมทางกาย ขยับเขยื้อนร่างกายให้มากขึ้น ก็เป็นอีกแนวทางที่ช่วยให้ห่างไกลโรคได้

2. พฤติกรรมตามใจปาก “กินจุบจิบ ติดหวาน มัน เค็ม”

ต่อเนื่องจากพฤติกรรมแรก อย่างที่มีสำนวนที่ว่า นิ่งเป็นหลับ ขยับเป็น “กิน” การกินถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเขมือบอะไรลงท้องไปก็ได้ ไม่เลือกหน้า เพราะกินอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือกินอะไรที่มากเกินไป ย่อมไม่ดีต่อร่างกาย แต่หากเลือกกินสิ่งของเป็นประโยชน์ร่างกายก็จะดีตามไปด้วย ดังคำพูดที่ว่า You Are What You Eat หรือกินอะไรก็ได้อย่างนั้น

คราวนี้ปัญหาของประเทศไทย คือ มีพฤติกรรมการกินที่ติดอาหารรสชาติหวาน มัน เค็ม ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ หลายคนยังมีพฤติกรรมชอบกินจุบจิบ กินไปเรื่อย หรือกินตอนดึก ซึ่งล้วนไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย ขณะที่อัตราการบริโภคผักผลไม้ของคนไทยก็ถือว่ายังน้อยอยู่มาก ขึงไม่แปลกที่เมื่อการกินก็ไม่ดี ซ้ำยังไม่ออกกำลังกาย โรคภัยถึงมาเยือนกันอย่างง่ายดาย

การกินเพื่อให้สุขภาพดีนั้น นายสง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย เคยแนะนำกับผู้จัดการออนไลน์ไว้หลายครั้งแล้วว่า 1. เน้นผักผลไม้ สลัดในอาหารไทย อย่างเมนูน้ำพริก ผักสด ผักลวก เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก 2. หันมากินข้าวกล้องแทนข้าวขาว 3. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ 4. ลดอาหารรสมัน หวาน เค็ม กินอาหารด้วยสูตร 6:6:1 นั่นคือ กินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา กินไขมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา และกินเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา 5. กินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ไร้สารปนเปื้อน ล้างผักให้สะอาด ปรุงสุก ไม่กินสุกๆ ดิบๆ เลี่ยงอาหารที่อาจมีการปนเปื้อนสารกันปูด เชื้อรา และ 6. ลดและงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุก็ไม่ควรดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเมาต้องไม่ขับ นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงชนิด หรือประเภทของอาหาร ควรเน้นอาหารประเภทนึ่ง ต้ม มากกว่าทอดหรือผัด และปริมาณของอาหารที่รับประทาน ควรรับประทานให้เหมาะสมพออิ่ม ที่สำคัญ ควรเลี่ยงพฤติกรรมการกินซ้ำๆ คือ กินบ่อยไปก็ไม่ดี ต้องกินแบบหมุนเวียนไปเรื่อยๆ นั่นเอง

3. พฤติกรรมสูบบุหรี่ “พ่นควันพิษ ทำลายตนเอง ทำร้ายคนรอบข้าง”

เป็นที่ทราบกันดีควันบุหรี่ประกอบด้วยสารพิษจำนวนมาก โดยบุหรี่ 1 มวน เมื่อเกิดการเผาไหม้จะก่อให้เกิดสารเคมีต่างๆ มากกว่า 7,000 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นสารพิษที่ก่อมะเร็งได้มากถึง 70 ชนิด เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ แอมโมเนีย อะซิโตน ไฮโดรเจนไซยาไนด์ แคดเมียม ฟอร์มาลดีไฮด์ สารกัมมันตรังสี สารหนู นิโคติน ทาร์ เป็นต้น

โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เคยให้ข้อมูลกับ MGROnline ว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอด และโรคเรื้อรังอื่นๆ ล่าสุด ได้มีรายงานของนายแพทย์ใหญ่สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดรับรอง 9 โรคใหม่ ว่า เกิดจากการสูบบุหรี่ หรือการได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบเป็นสาเหตุ ได้แก่ 1. มะเร็งตับ 2. มะเร็งลำไส้ 3. วัณโรค โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดวัณโรคเพิ่มขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตจากวัณโรคเพิ่มขึ้น และทำให้วัณโรคกลับเป็นใหม่มากขึ้น 4. เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเบาหวานในผู้ใหญ่ 30 - 40% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 5. จอตาเสื่อมโดยจะสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น 6. เพดานปากแหว่งตั้งแต่เกิดในมารดาที่สูบบุหรี่ 7. การตั้งครรภ์นอกมดลูก 8. โรคข้อรูมาตอยด์และภาวะภูมิต้านทานร่างกายลดลง และ 9. โรคเส้นเลือดสมองตีบหรือแตกจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง

อีกปัญหาที่น่าห่วงคือ แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ แต่ในความเป็นจริง กลับพบว่า ยังมีสิงห์อมควันอีกมากที่สูบบุหรี่แบบไร้จิตสำนึก โดยออกมาสูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบ และทำให้คนทั่วไปได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ไปด้วย ที่สำคัญเลย คือ บุคคลในครอบครัวที่ต้องได้รับควันบุหรี่มือสอง และมือสาม จากการสูบบุหรี่ของคนในครอบครัว จนนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ

ดังนั้น ปีใหม่ 2560 นี้ ลองหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองและคนรอบข้าง ด้วยการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้ก่อนอายุ 30 ปี จะมีกำไรชีวิตโดยอายุยืนขึ้นสิบปี เลิกก่อนอายุ 40 ปี อายุยืนขึ้นเก้าปี เลิกก่อนอายุ 50 ปี อายุยืนขึ้นหกปี และแม้จะเลิกเมื่ออายุ 60 ปี อายุก็ยืนขึ้นสามปี

4. พฤติกรรมปรี๊ดแตก “หัวร้อน ไฟสุมอก”

เมืองไทยว่าอากาศร้อนแล้ว อารมณ์ของคนไทยกลับร้อนรุ่มยิ่งกว่า สะท้อนได้จากข่าวคราวที่ปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่มีการถ่ายคลิปมาประจานถึงความไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง จนเกิดการด่าทอด้วยคำหยาบคาย จนกระทั่งไปถึงใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณี “น็อตกราบรถ” หรือ “ดีเจเก่งชนยาริส” ที่กลายเป็นข่าวโด่งดังในปี 2559 ซึ่งไม่เพียงแค่เหตุการณ์เหล่านี้ แต่ยังมีเหตุการณ์อีกมากที่คนเราไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธ ปรี๊ดแตกของตัวเองได้ ทั้งที่บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่เรื่องเล็กน้อยเท่านั้น

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่มีอารมณ์โกรธ หงุดหงิดบ่อยๆ จะทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้ และเมื่อมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เกิดอาการทั้งซึมและเศร้าตามมา ซึ่งถือเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งเมื่อเวลาคนเรามีความโกรธขึ้นมา หลายคนไม่สามารถจัดการได้ คือ มีอารมณ์ขึ้นมาแล้วระบายออกทันที ระเบิดออกมาทันที หรือขัดแย้งกับคนอื่นทันที จึงทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างที่เป็นข่าว

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่นี้ นพ.ทวีศิลป์ แนะนำว่า เป็นโอกาสอันดีที่หลายคนจะหันกลับมามองและทบทวนเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ หรือการจัดการกับอารมณ์ ซึ่งเรื่องความลาดทางอารมณ์ หรือ อีคิว นั้น สามารถพัฒนาหรือเพิ่มขึ้นได้แบบปีต่อปี หรือวันต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งแตกต่างจากความฉลาดทางปัญญาหรือไอคิว ที่การจะเพิ่มความฉลาดขึ้นมานั้นเป็นเรื่องยากมาก โดยช่วงวันหยุดยาวที่มีเวลาว่างหลายวัน อาจหาเวลาในการทบทวนตัวเอง โดยต้องรู้ข้อดีของตัวเองก่อน และมองหาจุดอ่อนของเราที่ต้องปรับเปลี่ยน อย่างเรื่องของอารมณ์ร้อนนั้นที่แนะนำคือ ต้องใช้สติตระหนักรู้ว่าเกิดอารมณ์ขึ้นกับตัวเอง จากนั้นต้องควบคุมอารมณ์ดังกล่าวให้ได้ เช่น การนั่งนิ่งเงียบ หรือการระงับข่มอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งการนิ่งสักพักหนึ่งแล้วทบทวนกับมัน จะทำให้เรามองหาทางออกได้ และการปลดปล่อยอารมณ์โกรธของตัวเองในทางที่ถูก ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการออกกำลังกาย เล่นกีฬา ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือทำอะไรก็ตามแล้วเราสบายใจขึ้นก็ช่วยให้เราจัดการกับอารมณ์โกรธนั้นได้ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทะเลาะวิวาทกับบุคคลอื่น หรือทำให้สุขภาพจิตของเราเสียไป

5. พฤติกรรมช้อปไม่คิด “ติดกับดักมายา หลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง”

ทุกวันนี้จะเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม เครื่องสำอาง โดยเฉพาะตามสื่อโซเชียล แถมยังมีการมาฝากร้านกันอีกด้วย โดยอ้างว่าใช้แล้วขาวใสปิ๊ง น้ำหนักลดเร็ว ลดจริง ผอมใน...วัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโฆษณาเกินจริงทั้งนั้น แต่ที่น่าแปลกคือคนไทยจำนวนมากยังคงหลงเชื่อ แล้วซื้อผลิตภัณฑ์พวกนี้มาใช้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทั้งหน้าเน่าจากสารปรอท หรือไฮโดรควิโนนในเครื่องสำอาง การได้รับยาอันตรายจากอาหารเสริม เช่น ยาลดความอ้วน “ไซบูทรามีน” จนกลายเป็นข่าวทำให้คนตายมานักต่อนัก นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการโฆษณาและหลอกขาย ยา หรืออาหารเสริมจากสมุนไพรแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ จนเกิดผลร้ายต่อสุขภาพตามมาด้วย

แม้จะมีบทเรียนเหล่านี้เกิดขึ้นรายวัน แต่ความอยากผอม สวย ก็ไม่เข้าใครออกใคร เพียงได้เห็นโฆษณาก็ถึงกับเคลิ้มหลงเชื่อซื้อมาทดลองใช้กับตัวเอง บ้างก็เพราะเชื่อคนใกล้ตัวว่าดี สุดท้ายก็เกิดผลร้ายกับตัวเอง ประหนึ่งไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา อย่างไรก็ตาม แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีการเดินหน้าเอาผิดลงโทษผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แต่ก็มีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ ออกมาอยู่เรื่อย ดังนั้น ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อโฆษณาหลอกลวง โฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์สุขภาพเหล่านี้ หนทางที่ดีที่สุด คือ ต้องป้องกันตัวเอง ใส่คาถาใจแข็งอย่าหลงเชื่อคำลวงของผลิตภัณฑ์เหล่านี้

ก่อนอื่นคือ ต้องรู้เท่าทันโฆษณา เพราะว่าการขาวไว ผอมไว เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากไม่มีส่วนผสมของสารอันตราย หรือแม้แต่อวดอ้างว่าช่วยรักษา ช่วยอกฟูรูฟิต ล้วนแต่เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น คือ ต้องพิจารณาถึงความเป็นจริงว่าคำโฆษณาดังกล่าวนั้นเป็นไปได้หรือไม่ และต้องหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ หรือถามผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบก่อน ซึ่งปัจจุบันก็มีเพจที่ให้ความรู้ทางสุขภาพที่น่าเชื่อถือได้หลายแหล่งด้วยกัน และส่วนที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนความคิดของตัวเอง ว่า คุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ความสวย หรือความผอมเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่จิตใจ โดยเฉพาะต้องยอมรับในสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นให้ได้ แต่หากอยากลดความอ้วนเพื่อสุขภาพก็ไม่ควรพึ่งพาทางลัด แต่ควรหันกลับมาใส่ใจสุขภาพด้วยการเลือกรับประทานสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ลดหวานมันเค็ม และมีการออกกำลังกายที่เพียงพอ และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ มีวินัย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา สุดท้ายเมื่อคนไม่นิยม ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็จะล้มหายตายจากกันไปเอง

6. พฤติกรรมตามใจฉัน “ทิ้งขยะเรี่ยราด ไร้จิตสำนึกสาธารณะ”

การทิ้งขยะข้างทาง ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง หนึ่งพฤติกรรมที่สะท้อนถึงความไร้วินัย และไม่เคารพในกฎระเบียบกติกาของสังคม ซึ่งการกำจัดขยะที่ไม่ถูกวิธีเช่นนี้จะส่งผลต่อการปนเปื้อนของเชื้อ หรือสารเคมีต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายก็จะกลับมาสู่มนุษย์ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ในที่สุด เพราะขยะถือเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่างๆ สามารถก่อให้เกิดโรคทางด้านกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ และหากเป็นสารเคมีก็อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอีกหลายอย่างตามฤทธิ์ของสารเคมีแต่ละตัวอีกด้วย หนักสุดก็อาจถึงขั้นก่อสารมะเร็งได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พ.ศ. 2548 - 2553 จากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมทั้งประเทศ ดังนี้ ปี 2548 เฉลี่ย 39,221 ตันต่อวัน, ปี 2549 เฉลี่ย 40,012 ตันต่อวัน, ปี 2550 เฉลี่ย 40,332 ตันต่อวัน, ปี 2551 เฉลี่ย 41,064 ตันต่อวัน, ปี 2552 เฉลี่ย 41,410 ตันต่อวัน และปี 2553 เฉลี่ย 41,532 ตันต่อวัน ตามลำดับ จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนปี 2556 มีจำนวนขยะรวม 26.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ถึง 2 ล้านตัน

การแก้ปัญหาเหล่านี้ก่อนอื่นต้องเริ่มจากกระตุ้นจิตสำนึกของตัวเองก่อน ว่า ไม่ควรทิ้งขยะเรี่ยราด แต่ควรทิ้งขยะในจุดที่แต่ละสถานที่กำหนด นอกจากนี้ เจ้าของพื้นที่แต่ละแห่งควรมีการทำถังขยะแยกประเภทเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปกำจัดภายหลังด้วย ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากและงบประมาณในการกำจัดขยะลง สำหรับประชาชนทั่วไป นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เคยแนะนำกับ MGROnline ว่า ต้องเริ่มต้นจากการแยกขยะในครัวเรือนเป็นลำดับแรก และไม่นำขยะพิษ หรือขยะอันตรายทิ้งปนกับขยะทั่วไป รวมถึงลดการใช้สิ่งต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดขยะในชุมชน โดยแยกเป็นขยะที่รีไซเคิลได้ ขยะทั่วไป และขยะติดเชื้อ นอกจากนี้ อาจเลือกใช้ภาชนะที่ย่อยสลายง่าย เช่น ภาชนะชานอ้อยแทนกล่องโฟมที่ย่อยสลายยาก

นอกจากนี้ ยาที่เหลือใช้หรือหมดอายุ ก็ไม่ควรฝังดิน หรือทิ้งลงแหล่งน้ำ เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของยาได้เช่นกัน ยิ่งหากเป็นยาปฏิชีวนะอาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ แต่ควรมอบให้กับโรงพยาบาลในการนำไปทำลายมากกว่า หรือหากยาเหลือใช้แต่ยังไม่หมดอายุก็อาจบริจาคยาให้แก่โรงพยาบาลที่มีความจำเป็นก็ได้เช่นกัน

7. พฤติกรรมเลี้ยงสัตว์ไม่รับผิดชอบ “ดูแลตอนเด็ก ทิ้งวัดตอนโต”

พฤติกรรมสุดท้ายที่อยากให้ทุกคนเปลี่ยน คือ การเลี้ยงสัตว์อย่างไม่รับผิดชอบ โดยเฉพาะการซื้อสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก เพราะเห็นว่าน่ารัก แต่เมื่อสัตว์เหล่านั้นโตขึ้น เกิดความเบื่อหน่าย หรือไม่อยากเลี้ยงแล้ว ก็กลับนำไปปล่อยวัด หรือปล่อยสถานที่สาธารณะอื่นๆ จนกลายเป็นภาระแก่สังคม หรืออย่างที่เพิ่งเป็นข่าวไปในปี 2559 คือ การให้สุนัขกินไอศกรีมจากช้อนของคนในร้างไอศกรีม ซึ่งอาจนำมาซึ่งการติดต่อของโรคจากน้ำลายสุนัขได้ นอกจากนี้ อีกปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วง และพบมากขึ้น คือ การไม่พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มมากขึ้น

น.สพ.พรพิทักษ์ พันหล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงหลังคนไม่ยอมพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า เนื่องจากข้อมูลช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีเชื้อพิษสุนัขบ้าในหัวสุนัขที่มีการสุ่มตรวจเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ มีอำเภอเสี่ยง 219 อำเภอ จาก 45 จังหวัด ที่สำคัญคือ จากเดิมประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากพิษสุนัขบ้าต่ำกว่า 10 รายต่อปี ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี บางปีมีคนเสียชีวิตเพียง 4 - 5 ราย แต่ช่วงหลังมีปัญหาเรื่องการให้วัคซีนในสัตว์ ทำให้พบว่ามีโรคเพิ่มมากขึ้น ล่าสุด ปี 2559 เสียชีวิตไปแล้ว 12 ราย ปี 2558 เสียชีวิตประมาณ 8 - 9 ราย

ขณะที่ปัญหาการทิ้งสัตว์เลี้ยงในที่สาธารณะ ก็มีโอกาสเพิ่มการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าด้วย เพราะไม่ได้รับการดูแล ดังนั้น การแก้ปัญหา องค์การพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประจำประเทศไทย จึงแนะนำว่า เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม คือเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ พาไปฉีดวัคซีนตามกำหนดสม่ำเสมอเพื่อป้องกันโรค ดูแลไม่ให้รบกวนบุคคลอื่น และไม่ทิ้งขวางสัตว์เลี้ยงให้เป็นภาระของสังคม ขณะที่คนรักสัตว์ทั้งหลายที่เห็นสุนัขหรือแมวจรจัด ก็ไม่ใช่แสดงความรักโดยการหาอาหารให้กินอย่างเดียว เพราะนอกจากจะทำให้สุนัขไม่ยอมไปไหนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรสุนัขจรจัด แต่จะต้องร่วมมือกับท้องถิ่นในการช่วยพาไปจับตอนเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่พันธุ์และการพาไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย ก่อนที่สุดท้ายเมื่อสุนัขหรือแมวจรจัดติดเชื้อแล้ว คนที่เป็นเหยื่อคมเขี้ยวแฝงเชื้อไวรัสมรณะ จะกลายเป็นตัวเราเองหรือคนใกล้ตัวที่คุณรักก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น