xs
xsm
sm
md
lg

“โค้ดมิลค์” แก้ปัญหาเรื่องนมแม่ได้จริงหรือ !/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีเรื่องสำคัญบางเรื่องในสังคมที่กำลังเป็นที่จับตากันอยู่ในลักษณะที่คนนอกวงการอาจไม่ได้รับรู้หรือสนใจมากนัก และเป็นเรื่องยากที่จะฟันธงไปทันทีว่าใครถูกใครผิด !
ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. …. (โค้ดมิลค์) ที่เสนอโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีสาระสำคัญในการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของนมผงและอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ก็เกิดการถกเถียงในสังคมว่ากฎหมายฉบับนี้สุดโต่งไปหรือไม่
จนกระทั่งทางแพทยสภาและกลุ่มหมอเด็กได้ออกโรงแถลงข่าวว่าแม้จะเห็นด้วยในหลักการของกฎหมายดังกล่าวที่ต้องการส่งเสริมให้คนไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่มีความเห็นว่าควรจะควบคุมการส่งเสริมการตลาดเฉพาะอาหารสำหรับทารกหรือเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปีเท่านั้น โดยเปลี่ยนชื่อเป็นพ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก พ.ศ. …. จากเดิมที่กฎหมายควบคุมถึงอายุ 3 ปี
ทำให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาชี้แจงว่า เจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. นี้ มุ่งควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาด ลด แลก แจก แถม และเพื่อให้เด็กเจริญเติบโตมีพัฒนาการสมวัยที่สุด ส่วนการกำหนดให้ครอบคลุมอาหารทารกและเด็กเล็กถึงอายุ 3 ปี ก็เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัย (WHO) ที่ให้มีการควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กถึงอายุ 3 ปี
ประเด็นแง่มุมทางกฎหมาย ดิฉันเชื่อว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ดีที่ต้องการคุ้มครองเด็กทารกและเด็กเล็กไม่เกิน 3 ขวบ และอยากส่งเสริมให้เด็กไทยกินนมแม่มากขึ้น
ความจริงประเด็นเรื่องให้ลูกกินนมแม่ไม่น่าเดินมาถึงจุดนี้ได้ จุดที่ต้องนำกฎหมายเข้ามากำกับดูแลเพื่อให้แม่ให้นมลูกให้ได้มากที่สุด ทั้งที่เรื่องนมแม่มีประโยชน์เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ดี คนเป็นแม่ก็อยากให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น ตัวเลขล่าสุดจากยูนิเซฟ ประเทศไทย พบว่า สถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก อยู่ที่ร้อยละ 12.3 ถือว่าต่ำที่สุดในเอเชีย โดยสาเหตุสำคัญที่สุด คือการที่แม่ต้องไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด 3 เดือน
แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีการรณรงค์จากหลายหน่วยงานเพื่อให้แม่ลูกอ่อนทั้งหลายเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ผลที่ได้กลับตรงข้าม นั่นหมายความว่าต้องมีกลไกอะไรบางอย่างที่ทำให้คนเป็นแม่ไม่ได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกมากเท่าที่ควร
สาเหตุหลักก็คือ เพราะแม่ต้องทำงานนอกบ้านด้วย แม้สามารถลางานได้ 3 เดือน ในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติลาเพียงเดือนครึ่ง อีกทั้งยังมีความเชื่อผิด ๆ ว่ากินนมแม่แล้วจะทำให้นมเสียรูปทรง ทั้งที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย
อีกประเด็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนอย่างมาก ก็คือ เพราะนมผงในท้องตลาด ที่ทำให้คนเป็นแม่ตัดสินใจเลือกให้ลูกกินนมผง ด้วยเหตุเพราะสะดวก เชื่อโฆษณา ขาดความรู้ ฯลฯ
เราต้องยอมรับว่าด้วยโลกทุนนิยม ทำให้การใช้เม็ดเงินเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ในบ้านเรามีมากมายเหลือเกิน รวมไปถึงวิธีการโฆษณาแบบทำการตลาดที่ล่วงล้ำเข้าไปสู่กลุ่มผู้บริโภค ที่นับวันยิ่งทะลุทะลวงเข้าไปกลุ่มเป้าหมายแบบแนบชิดและแยบคาย
ในกรณีเรื่องนี้ การทำตลาดของผลิตภัณฑ์นมผงก็เข้าถึงแม่ลูกอ่อน เข้าถึงโรงพยาบาล และเข้าถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์เช่นกัน
ดิฉันเองก็เคยตกเป็นกลุ่มเป้าหมายเมื่อครั้งที่เป็นแม่ลูกอ่อน ได้รับสินค้าแบบแจกฟรี และยุทธวิธีลดแลกแจกแถมสินค้าสำหรับเด็กอ่อนหลายชนิด รวมไปถึงนมผง
และเมื่อตัวเองต้องเดินทางไปทำงานในต่างจังหวัดบ่อยครั้ง ได้มีโอกาสไปโรงพยาบาลในหลายจังหวัดหลายพื้นที่ ก็ยอมรับว่า ตะลึงต่อกลยุทธ์วิธีการเข้าถึงผู้บริโภคในโรงพยาบาลได้อย่างแยบยลจนน่าตกใจ โดยเฉพาะในบริเวณแผนกสูตินรีแพทย์ หรือแผนกกุมารฯ เพราะโรงพยาบาลบางแห่งถึงขั้นยอมให้ผลิตภัณฑ์นมผงบางยี่ห้อติดป้ายผลิตภัณฑ์บนผนังของโรงพยาบาล หรือแม้แต่เป็นสปอนเซอร์เครื่องเล่นสำหรับเด็กบริเวณแผนกกุมารฯ
ดูผิวเผินก็เหมือนสปอนเซอร์ทั่วไปที่มาสนับสนุนให้กับโรงพยาบาล เพราะอุปกรณ์ต่างๆ ก็ราคาใช่ย่อย โรงพยาบาลบางแห่งไม่มีงบประมาณเพียงพอ ก็อาศัยภาคเอกชนในการสนับสนุน และก็มีการมอบผลิตภัณฑ์ให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่มาคลอดที่โรงพยาบาล หรือผู้ที่พาเด็กเล็กมาใช้บริการ
และสิ่งที่ต้องยอมรับ ก็คือ เมื่อแม่คลอดลูกแล้ว อยู่ระหว่างการฟื้นตัว ช่วงนั้นทารกจะอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ ที่อาจต้องให้นมผสมใส่ขวดนมให้กับทารก ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาก เนื่องจากโรงพยาบาลที่สนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะพยายามให้ทารกได้ดูดนมแม่ให้เร็วที่สุด และบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนมแม่ด้วย อีกทั้งยังทำให้ทารกได้รับโคลอสตรุ้ม (Colostrum) เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับทารก
แต่พอทารกได้รับนมผสมตั้งแต่แรกคลอด ก็มีความเสี่ยงที่ลูกจะได้นมแม่น้อย หรือกลายเป็นเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยทั้งนมแม่และนมผสมตั้งแต่ทารก และแน่นอนเมื่อแม่จะตัดสินใจซื้อนมผสม ส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกนมผงยี่ห้อเดียวกับที่ลูกได้กินจากโรงพยาบาล
เรื่องก็เป็นเช่นนี้ !
ดิฉันเชื่อว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ต้องการให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือทำการตลาดกันแบบโจ่งครึ่มอย่างทุกวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าวิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์ เขาก็ต้องหาทางเลี่ยงไม่ให้ผิดกฎหมาย เนื่องจากเขาเป็นบริษัทเอกชนก็ต้องแสวงหาผลกำไร
ที่ผ่านมา บ้านเราปล่อยปละเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน เห็นด้วยว่าต้องมีการกำกับดูแลให้เหมาะสม แต่ก็ต้องควบคู่กับการให้ความรู้กับประชาชนด้วย
เพราะลำพังงบประมาณของโรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัดก็ไม่เพียงพอต่อการจัดการ จึงต้องหันพึ่งพาการหาสปอนเซอร์มาช่วยแบ่งเบาด้านงบประมาณ
หรือแม้แต่คนที่ให้นมแม่ ก็ควรได้รับความรู้ที่เหมาะสมด้วย ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา แม้ภาครัฐจะรณรงค์กันมากมายเพื่อส่งเสริมแม่ให้ลูกกินนมแม่ แต่ตัวเลขของคนกินนมแม่กลับลดลงเรื่อยๆ
ใช่หรือไม่ เพราะเราไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ !
ประการสำคัญที่สุดต้องให้แม่ได้มีโอกาสให้นมลูกให้ได้มากที่สุด ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนแค่การรณรงค์ แต่มีนโยบายเอื้อให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยจะดีกว่าไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องลาหยุดงานสามารถขยายเวลา หรือทำให้ได้หยุดจริงแบบได้รับค่าตอบแทนเต็ม หรือการให้สถานประกอบการมีพื้นที่สำหรับเอื้อให้แม่ลูกอ่อนอย่างจริงจัง
ประการต่อมา การให้ความรู้ รวมไปถึงวิธีการให้นมแม่ที่ถูกวิธี ด้วยการให้ข้อมูลที่ตรงจุดตรงประเด็น รวมไปถึงการให้รู้เท่าทันสื่อเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกินจริง
จะไปโทษหรือประนามบริษัทนมผงว่าโฆษณาเกินจริง หรือพยายามแทรกซึมไปยังผู้บริโภคอย่างเดียว หรือการประนามแพทย์ที่ออกมาคัดค้านในบางประเด็นว่าเพราะเขามีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเรื่องที่ควรแล้วหรือ เพราะที่ผ่านมา ภาครัฐเองก็ไม่เคยมีมาตรการช่วยเหลือหรือเอื้อให้ประชาชนสามารถให้นมแม่ให้ได้มากที่สุด
การออกกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่ดีที่อยากให้เด็กไทยได้กินนมแม่ แต่การออกกฎหมายเพื่อควบคุมอย่างเดียว โดยไม่ได้มีนโยบายส่งเสริม หรือเอื้อให้แม่สามารถให้นมแม่ได้เต็มที่ และให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย ก็ไม่แน่ใจว่าท้ายสุดจะทำให้อัตราการให้นมแม่ในบ้านเราจะเพิ่มมากขึ้นจริงหรือ !
กำลังโหลดความคิดเห็น