สปสช. หนุน ร่าง กม. คุมตลาดนมผง ชี้ ทารกได้รับนมแม่เต็มที่ ช่วยลดป่วย ลดค่ารักษาถึง 192 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เผย งบส่งเสริมป้องกันโรคสำหรับทุกสิทธิ เดินหน้าส่งเสริมให้นมแม่ในที่ทำงาน
จากกรณีที่มีกลุ่มบริษัทนมผงและเครือข่ายกุมารแพทย์บางคน ออกมาทักท้วง ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ว่า มีความสุดโต่ง กระทบกับโภชนาการของเด็กไทย ซึ่งกรมอนามัยยืนยันว่าไม่กระทบ เพียงแค่ส่งเสริมให้เกิดการกินนมแม่ และป้องกันการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดนมผง โดยยืนยันว่าไม่ได้ห้ามกินหรือห้ามขาย และช่วยให้มารดาได้รับข้อมูลตามความเป็นจริง
วันนี้ (27 ธ.ค.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ซึ่งเป็นความสำเร็จจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยอย่างแท้จริง แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นต้นแบบของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในส่วนการควบคุมการทำตลาดนมผงกลับยังไม่คืบหน้ามากนัก ส่งผลให้อัตราการได้รับนมแม่ของทารกใน 6 เดือนแรกนั้นต่ำมาก ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า มีทารกเพียงร้อยละ 46 ที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชีวิต ทารกเพียงร้อยละ 12 ได้รับนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และเด็กเพียงร้อยละ 18 ได้รับนมแม่จนอายุ 2 ปี
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ขณะที่ข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์ The Lancet Breastfeeding Series 2016 เรื่อง “ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อสุขภาพ พัฒนาการเด็กและการพัฒนาประเทศ” พบว่า สำหรับในประเทศไทย มีการวิเคราะห์ว่าหากเด็กทุกคนได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ ประเทศไทยจะสามารถป้องกันการสูญเสียรายได้ถึง 192.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี จากความสามารถของสมองที่เพิ่มขึ้น และยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและปอดบวมถึง 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อลดการเจ็บป่วยของประชาชน
“ในส่วนของบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับประชาชนทุกคนในทุกสิทธิสุขภาพนั้น บอร์ด สปสช. ได้กำหนดให้มีบริการส่งเสริมการให้นมแม่ในสถานที่ทำงานด้วย เพื่อส่งเสริมการให้นมแม่ โดยเป็นบริการส่งเสริมการให้นมแม่ของหญิงหลังคลอดบุตรเมื่อต้องกลับไปทำงานเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ประสานกับเจ้าของสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงานจัดให้มีช่วงเวลาพักระหว่างงานสำหรับการให้นมหรือปั๊มเก็บน้ำนม รวมถึงการอำนวยความสะดวกสถานที่และอุปกรณ์” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว