xs
xsm
sm
md
lg

โอนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการให้บริษัทประกันดูแล ใช่เลยหรือสิ้นคิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีนโยบายควบคุมค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว ด้วยการโอนให้บริษัทประกันดูแลแทนกรมบัญชีกลาง นั่นคือรัฐบาลจะเอางบประมาณมาทำประกันค่ารักษาพยาบาลกับบริษัทประกันภัยเอกชนให้ข้าราชการนั่นเอง เพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้ได้ จึงมีคำถามตัวใหญ่มากว่า นี่เป็นวิธีการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วหรือไม่
ระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยมี 3 ระบบคือ บัตรทองสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ประกันสังคมสำหรับผู้แรงงาน และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ซึ่งดูแลคนประมาณ 5 ล้านคน ทั้งนี้มีเพียงระบบสวัสดิการข้าราชการที่เป็นงบปลายเปิด นั่นคือเบิกเท่าไหร่ก็ได้ไม่มีเพดาน กรมบัญชีกลางต้องจ่ายโรงพยาบาลตามที่เบิกมา ในขณะที่อีกสองกองทุนเป็นงบปลายปิด นั่นคือมีงบจำกัด เบิกภายใต้วงเงินที่มี จึงไม่แปลกที่งบค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการจะบานเพิ่มขึ้นทุกปีขยับมาเป็นกว่า 6 หมื่นล้านในปีนี้ และอาจถึง 70,000 ล้านในปีหน้า
การที่งบบานทะลุเพดานทำ” new high” ทุกปี เป็นปัญหาใหญ่ที่ควรแก้ไข ข้อนี้ไม่มีใครเถียง และเป็นสิ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพทั้งสามระบบอย่างมาก
บทเรียนสำคัญประการหนึ่งคือ กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ หรือ พรบ.บุคคลที่ 3 ที่รถทุกคันต้องประกันอุบัติเหตุกับบริษัทประกัน รวมปีละกว่า10,000 ล้านบาท พอเกิดอุบัติเหตุ ให้เบิกบริษัทประกันก่อน แต่ผลก็คือเบิกยากเบิกเย็น ความสะดวกไม่มี เรียกหลักฐานมากมาย หลักฐานไม่ครบก็ไม่จ่ายหรือจ่ายช้ามาก ผลก็คือ โดยเฉลี่ยบริษัทประกันจ่ายคืนค่ารักษาให้โรงพยาบาลราว 5,000 ล้านบาท ที่เหลือคือผลกำไรที่กินเปล่า ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายไม่เอาใบเสร็จไปเบิก โรงพยาบาลเองก็เป็นภาระในการเรียกเก็บอย่างยิ่ง เบิกไม่ได้หนี้สูญอีกจำนวนมาก การจ่ายยากเป็นเรื่องธรรมดา เพราะปรัชญาของบริษัทเอกชนในโลกทุนนิยมคือกำไรสูงสุด จนเคยมีข้อเสนอว่า เก็บเงินค่าทำ พรบ.บุคคลที่ 3 แล้วส่งให้ สปสช.บริหารจัดการยังจะดีกว่า แต่ข้อเสนอนี้ไม่มีเสียงตอบรับใดๆจากรัฐบาล เพราะกลัวบริษัทประกันจะมีกำไรน้อยลง
รัฐบาลควรเอาบทเรียนจาก พรบ.บุคคลที่ 3 มาศึกษาก่อนที่จะผลักข้าราชการและครอบครัวเข้าสู่ระบบประกันเอกชนที่เน้นการทำกำไร แทนที่จะมองหากลไกการดูแลด้วยระบบที่ไม่หวังผลกำไร
เป้าหมายในการควบคุมค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เข้าใจได้และยอมรับได้ แต่ภายใต้เป้าหมายนี้ มีหลายวิธีที่ทำได้ ไม่จำเป็นต้องโอนให้บริษัทประกันเอกชนรับเอาเนื้อชิ้นโตไปนอนกินโดยไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและข้าราชการและครอบครัว เป็นวิธีง่ายมาก คิดง่ายแต่ไม่ใช่หนทางที่ควรจะเป็น
แล้ววิธีการบริหารจัดการงบค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวที่ควรจะเป็นคืออะไร?
สุขภาพและความเจ็บป่วยไม่ควรถูกมองเป็นสินค้า ประกันสุขภาพที่ดีต้องเป็นประกันสุขภาพที่บริหารโดยองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสำนักงานประกันสังคม คือองค์กรที่ว่านี้ หากกรมบัญชีกลางไม่มีความสามารถในการดูแลแล้ว ก็ควรตั้งองค์กรประกันสุขภาพข้าราชการแบบ สปสช.มาดูแลอย่างเป็นระบบ บริหารด้วยงบปลายปิด หรือจะให้ สปสช.ดูแลเลยก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่การถ่ายโอนให้บริษัทประกันเอกชนดูแล เพราะเขาเป็นองค์กรที่แสวงหากำไรสูงสุด ซึ่งแน่นอนว่ากำไรสูงสุดจะได้มาก็ด้วยการควบคุมอย่างเข้มงวด เบิกยาก ข้อจำกัดมากมาย สุดท้ายข้าราชการและครอบครัวก็ต้องควักเงินในกระเป๋าออกเอง เพราะเบื่อระบบ เฉกเช่นเดียวกับกรณีประกันอุบัติเหตุของ พรบ.บุคคลที่ 3 และเผลอๆ การถือบัตรทองอาจได้สิทธิประโยชน์มากกว่าบัตรข้าราชการก็เป็นได้
ข้าราชการและครอบครัวคงต้องช่วยกันส่งเสียงดังๆ เพราะผู้กำหนดนโยบายกำลังมึน เป้าหมายนั้นถูกต้องไม่มีใครเถียง แต่วิธีการนั้นไม่ตอบโจทย์ ควรหาวิธีการใหม่ที่เหมาะสม เพราะสุขภาพไม่ใช่สินค้า ระบบประกันสุขภาพที่ถูกต้องต้องไม่ใช่ระบบเพื่อการแสวงหากำไร
การโอนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวให้บริษัทประกันเอกชนรับไปดูแลแทนกรมบัญชีกลาง เป็นนโยบายที่ใช่เลยหรือสิ้นคิด ทุกท่านคงมีคำตอบอยู่ในใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น