คสร. ค้าน “คลัง” เตรียมโอนเงินค่ารักษาข้าราชการ 7 หมื่นล้าน ให้ธุรกิจประกันภัยบริหาร ชี้ เสียค่าบริหารจัดการแพง สูบเงินออกจากระบบ เพิ่มวิกฤต รพ.รัฐ ส่อเจ๊ง แนะคุมการใช้ยาสมเหตุผล โยนให้ สปสช. ช่วยบริหารจัดการ
วันนี้ (7 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) จัดแถลงข่าว “คัดค้าน กระทรวงการคลังเตรียมยกงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ให้ธุรกิจประกันภัยดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ” โดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และตัวแทน คสร. กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะการให้บริษัทเอกชนจัดการ นอกจากมีค่าบริหารจัดการแล้ว ยังต้องการกำไรอีก เห็นได้ชัดจาก พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ. 2535 บริษัทเอกชนรับไปถึงกว่าร้อยละ 40 และเมื่อมีประสบภัยจากรถเกิดขึ้น กว่าจะเบิกเงินได้ก็ยากมาก ต้องไปแจ้งความ ต้องมีบันทึกประจำวัน และโรงพยาบาลต้องส่งเอกสารต่างๆ มากมายถึงเบิกได้ ในที่สุดก็เหนื่อยล้าที่จะเบิก
“หากให้บริษัทเอกชนมาบริหารเงินค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ การเบิกจ่ายคงเป็นแบบเดียวกัน และค่าบริหารจัดการที่ต้องให้บริษัทเอกชนไปอีก ง่ายๆ หากคิดค่าบริหารจัดการร้อยละ 10 ก็ตกประมาณ 7,200 ล้านบาท งบส่วนนี้จะหายไปให้เอกชน แทนที่จะไปอยู่ในระบบของ รพ.รัฐ ซึ่งทุกวันนี้ก็หมุนเวียนอยู่ และหากถูกคิดค่าบริหารจัดการเพิ่มไปถึงร้อยละ 40 เงินจะหายไปจากระบบอย่างไร แน่นอนว่า รพ.รัฐ ประสบปัญหาแน่ๆ ยิ่ง รพ. ในสังกัด สธ. ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องอยู่แล้ว จะยิ่งแย่ และจะเจ๊งภายใน 2 ปี ดังนั้น เราต้องช่วยกัน ต้องปิดกั้นอย่าให้สิ่งชั่วร้ายเหล่านี้เกิดขึ้น ที่กลัวคือการใช้มาตรา 44 โดยหวังว่าจะไม่เกิดขึ้น” นพ.มงคล กล่าวและว่า อยากให้ข้าราชการทุกคนที่มีสิทธิลุกขึ้นมาบอกว่า ไม่เอาวิธีนี้ รวมทั้ง รพ. ต่างๆ โดยเฉพาะ รพ.สังกัด สธ. จะมีปัญหาแน่นอนภายในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงประชาชนทั่วไปอย่างบัตรทอง อย่าคิดว่าจะรอด เพราะหากระบบใดล้ม ก็จะล้มไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความบกพร่องของการบริหารจัดการของกรมบัญชีกลาง เพราะไม่มีการดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ ไม่มีระบบตรวจสอบสิทธิและบริการ เมื่อเกิดปัญหากลับไม่แก้ไข แต่กลับโยนให้เอกชนทำ ทั้งที่มีค่าบริหารจัดการ
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัด สธ. กล่าวว่า จากสาเหตุที่ระบุว่า งบประมาณพุ่งสูงจึงโยนให้ธุรกิจประกันภัยไปดำเนินการ ต้องถามว่า เกาถูกที่คันหรือไม่ จริงๆ ต้องไปดูต้นเหตุว่ามาจากอะไร ยกตัวอย่าง กรมบัญชีกลางเคยเรียกเงินคืนจาก รพ. แห่งหนึ่ง เพราะพบว่ามีการสั่งจ่ายยาให้คนไข้มากเกินความจำเป็น หรือการยิงยา เพราะยาที่ไปสั่งเป็นยานอกบัญชียาหลักฯ ซึ่งมีราคาแพง ตรงนี้ก็ต้องไปตรวจสอบว่า เพราะอะไรถึงใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ กรมบัญชีกลางสามารถตรวจสอบบัญชีการใช้ยาต่างๆ ได้ ดังนั้น ทางออกคือวิเคราะห์ปัญหาก่อน และให้ข้าราชการ ให้สถาบันวิชาการ รวมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มาร่วมกันศึกษาว่าจะหาทางออกกันอย่างไรก่อนดีกว่า
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดนี้มีการเตรียมพร้อมอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่สอบถามความคิดเห็นผู้มีสิทธิข้าราชการ จริงๆ หากจะแก้ปัญหาการยิงยาจนสิ้นเปลืองงบประมาณ ก็ต้องไปควบคุมการใช้ยาให้สมเหตุผล และกรมบัญชีกลางควรแยกหน่วยออกมาทำเรื่องนี้ แยกเป็นหน่วยอิสระในการติดตามตรวจสอบ หากทำไม่ได้ ก็อาจให้ สปสช. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หรือให้หน่วยอิสระกลางแห่งใดมาทำก็ได้ สำหรับค่าบริหารจัดการ หากเป็นภาครัฐ อย่าง สปสช. ใช้งบไม่เท่าไร คิดค่าบริหารจัดการประมาณ 1% แต่เอกชนน่าจะเกิน 25%
นางรัศมี วิศทเวทย์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า จากการที่เคยทำงาน สคบ. เห็นการร้องเรียนจากผู้บริโภคมากมาย ทั้งเรื่องการประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ อย่างหากจ่ายเงินประกันภัยประเภท 1 ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะจ่ายเยอะ แต่คนทำประกันประเภท 3 จะมีเงื่อนไขเยอะมาก และขอเรียนว่า ข้าราชการไทยไม่ได้มีฐานะร่ำรวย มีเพียงบางส่วนที่มีฐานะเท่านั้น และสิทธิข้าราชการปัจจุบันก็ลดน้อยลง ยาบางตัวเบิกจ่ายไม่ได้ อย่างค่าทำฟัน สิทธิข้าราชการไม่ได้เบิกง่ายๆ มีเงื่อนไขอีก และหากให้ธุรกิจเอกชนบริหาร แน่นอนว่าจะต้องมีปัญหา เพราะจะกระทบต่อผู้มีสิทธิในการเบิกจ่าย ยังเป็นการให้ประโยชน์ต่อธุรกิจเอกชนอีก แทนที่จะให้ราชการทำและไปพัฒนาระบบเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงต้องเป็น สปสช. มาบริหารจัดการ นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า สปสช. มีข้อได้เปรียบ มีคนมีระบบ และมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ แต่หากจะตั้งหน่วยงานขึ้นมาจำเพาะ รัฐบาลคงไม่เห็นด้วย ดังนั้น ควรให้นักวิชาการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาหาทางออกตรงนี้
ด้าน นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ขอให้กรมบัญชีกลาง พิจารณาถึงสิทธิประโยชน์และแผนระยะยาว ก่อนที่จะโอนให้บริษัทประกันภัยดูแล เนื่องจากเห็นว่า กรมบัญชีกลางยังบริหารจัดการได้ดี แม้รายจ่ายจากค่ารักษาพยาบาลจะพุ่งสูงถึง 7.1 หมื่นล้านบาท ในปีนี้ แต่แสดงให้เห็นว่าผู้อยู่ในระบบมั่นใจและเข้าถึงการบริการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริง การเพิ่มของงบประมาณ มาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ อายุของผู้ใช้สิทธิมากขึ้น, เทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย, การเข้าถึงบริการ และความเชื่อมั่น ทั้งนี้ การจะลดงบประมาณสามารถทำได้ เช่น สร้างความตระหนักกับผู้จ่ายยา เพื่อป้องกันปัญหาชอปปิ้งยา