เสนอตั้งบอร์ดวิจัย - อุตสาหกรรมยาระดับชาติ แบบเกาหลีใต้ ช่วยวางแผนการผลิตยาใช้ในไทย พ่วงส่งออก หนุนงบวิจัย ดูแลสิทธิประโยชน์ผู้ผลิตยา เร่งรัดการขึ้นทะเบียน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
ภก.วินิต อัศวกิจวิรี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์และการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการบัญชียามุ่งเป้า ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อย. ผู้ประกอบการด้านยา และนักวิจัยเข้าร่วม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้ชี้แจงให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตยาและนักวิจัยได้เข้าใจร่วมกันว่า ขณะนี้รัฐบาลต้องการมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมยาของประเทศไทย ให้สามารถผลิตยาใช้เองภายในประเทศ และส่งออกได้ เพื่อช่วยกระตุ้นและสร้างเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งยามุ่งเป้าที่ต้องการส่งเสริม คือ ยาที่มีราคาแพง มีการใช้มาก ผลิตเองได้น้อย และมีศักยภาพที่จะส่งออกได้ ซึ่งการประชุมยังไม่ได้มีการสรุปว่าจะเลือกยารายการใดบ้าง แต่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณาและมานำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
“การส่งเสริมอุตสาหกรรมยา ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการวิจัยและการผลิตเท่านั้น แต่ต้องมีการส่งเสริมกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่งบประมาณในการวิจัยยา การส่งเสริมการวิจัย การส่งเสริมการผลิตยา จนไปถึงการขึ้นทะเบียนยาที่ต้องรวดเร็ว ซึ่งนอกจากการให้ผู้เกี่ยวข้องเสนอรายการยามุ่งเป้าแล้วยังให้เสนอใน 3 ประเด็นด้วย คือ 1. การวิจัยยา ว่าใครกำลังอยู่ในช่วงของการวิจัยในมนุษย์บ้าง เพื่อที่ วช. จะตั้งงบประมาณในการส่งเสริมการวิจัย 2. ภาคอุตสาหกรรม มีปัญหาเรื่องการผลิตอย่างไร ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมในเรื่องใด เพื่อจูงใจในการผลิตยา หรือยาตัวใดที่กำลังอยู่ในช่วงการขึ้นทะเบียนแล้วมีปัญหาก็ให้เสนอเข้ามาเพื่อที่จะได้ปรึกษากับ อย. ว่า ติดขัดในส่วนใด จะได้เร่งในการขึ้นทะเบียน และ 3. ชีววัตถุ ซึ่งมีความซับซ้อนและการลงทุนที่มากกว่ายา” ภก.วินิต กล่าว
ภก.วินิต กล่าวว่า ทั้งนี้ เบื้องต้นในที่ประชุมมีการเสนอขึ้นมา ว่า ควรมีการตั้งคณะกรรมการ หรือบอร์ดระดับชาติที่จะมาดูแลส่งเสริมเรื่องของการวิจัยและอุตสาหกรรมยาโดยเฉพาะ เหมือนประเทศเกาหลีใต้ ที่มีบอร์ดระดับชาติดูแล จึงทำให้อุตสาหกรรมยาของเกาหลีใต้พัฒนาอย่างมาก ซึ่งต้องมาดูว่าจะตั้งบอร์ดนี้ขึ้นผ่านการใช้กฎหมาย หรือตั้งโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จะต้องร่างให้ชัดเจนถึงอำนาจของบอร์ดชุดนี้ที่สามารถสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยาได้ ทั้งเรื่องของการวางแผนการผลิตยา การสนับสนุนงบประมาณการวิจัย การดูแลหรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ผลิตยา เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิต เร่งรัดการขึ้นทะเบียน หรือการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมยา เช่น ส่งเรื่องให้กรมบัญชีกลาง หรือสำนักนายกรัฐมนตรี แก้ระเบียบที่ไม่เอื้อต่ออุตสาหกรรมยา เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง หากผลิตแล้วหน่วยงานรัฐต้องซื้อจากผู้ผลิตก่อน เป็นต้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่