อย. เตรียมเผายาเสพติดกว่า 5 พันกิโลกรัม มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นยาบ้า รับแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ไม่มีลดลง ขณะที่จำนวนผู้ต้องขังจากการเสพยาเพิ่มขึ้น ชี้ถอด “ยาบ้า” จากยาเสพติดช่วยลดผู้เสพ ลดผู้ต้องขัง มองเป็นผู้รับบำบัด ไม่ใช่อาชญากร เผยอยู่ระหว่างแก้กฎหมายคนเสพไม่ต้องติดคุก ย้ำ คนขาย - คนผลิต โทษแรงเหมือนเดิม
วันนี้ (21 มิ.ย.) นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวเตรียมเผายาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 46 ว่า วันที่ 26 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งทุกปีจะมีการจัดเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางที่คดีความสิ้นสุดลงแล้ว โดยในปีนี้กำหนดวันเผาทำลายยาเสพติดวันที่ 24 มิ.ย. นี้ ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวนกว่า 5,136 กิโลกรัม จาก 231,100 คดี มูลค่ารวม 10,961 ล้านบาท โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้งนี้ ยาเสพติดของกลางส่วนใหญ่เป็น เมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า 4,240 กิโลกรัม หรือ 47 ล้านเม็ด มูลค่า 9,423 ล้านบาท นอกจากนั้น เป็นยาไอซ์ 422 กิโลกรัม มูลค่า 1,056 ล้านบาท เฮโรอีน 411 กิโลกรัม มูลค่า 411 ล้านบาท โคคาอีน 9 กิโลกรัม มูลค่า 28 ล้านบาท เอ็กซ์ตาซี หรือ ยาอี 3 กิโลกรัม หรือประมาณ 15,457 เม็ด มูลค่า 12 ล้านบาท ฝิ่น 38 กิโลกรัม มูลค่า 4 แสนบาท และอื่น ๆ นอกจากนี้ จะมีกัญชาของกลางที่กองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาร่วมเผาจำนวน 4,088 กิโลกรัม มูลค่า 32 ล้านบาทด้วย โดยจะใช้การเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไรติก อินซิเนอเรชัน ที่มีอุณหภูมิสูงไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดการสลายตัวของโมเลกุลกลายเป็นคาร์บอนในระยะเวลาสั้น ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม
นายวินัย มณฑาพงษ์ ประธานคณะทำงานตรวจรับยาเสพติดให้โทษของกลาง กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณายาเสพติดของกลางให้โทษที่คดีสิ้นสุดแล้วนั้น มีรายใหญ่ประมาณ 5,056 คดี ที่เหลือ 2 แสนคดีนั้น เป็นรายย่อย ทั้งนี้ จะมีการตรวจรับของกลางรายย่อยก่อน โดยจะมีการชั่งน้ำหนัก การสุ่มตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการว่าเป็นยาเสพติดตามที่มีการระบุหรือไม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน จากนั้นจึงทำการตรวจรับของกลางจากคดีรายใหญ่
พ.ต.อ.วิศิษฐ์ ลัทธิวงศกร ผู้แทนประธานคณะทำงานรักษาความปลอดภัย และทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง กล่าวว่า คณะทำงานได้มีการหารือวางแผนการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดตลอดเส้นทาง ทั้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ อย. ตลอดจนการเผายาเสพติดชิ้นสุดท้ายจนไหม้หมด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยาเสพติดของกลางเกือบทั้งหมดเป็นยาบ้า แนวคิดการถอดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จะยิ่งทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้นหรือไม่ นพ.บุญชัย กล่าวว่า การเผาทำลายยาเสพติดของ อย. ที่ผ่านมาในแต่ละปี มีแต่เพิ่มขึ้น ไม่มีลดลงเลย ขณะที่เรือนจำในประเทศไทยกว่า 60 - 70% เป็นคดีเกี่ยวกับการเสพยาเสพติด ซึ่งบางคนอาจแค่เสพยาเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่ได้เป็นผู้ขาย แต่โทษที่มีนั้นรุนแรงเกินไป ทำให้มีปริมาณผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หากมองว่าผู้เสพยาเป็นผู้ที่ต้องช่วยเหลือต้องไปบำบัด ก็ถือเป็นแนวคิดที่ดีที่จะลดผู้เสพยาเสพติดและจำนวนผู้ที่ต้องไปอยู่ในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม มาตรการปรับยาบ้าไปเป็นวัตถุออกฤทธิ์ไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะลดจำนวนผู้เสพยาลง แต่ต้องอาศัยหลายมาตรการควบคู่กันไป เหมือนบุหรี่ที่จำนวนการผลิตบุหรี่ไม่ได้ลดลง แต่คนสูบบุหรี่ลดลงก็ต้องมีมาตรการอื่น ทั้งการควบคุมคนสูบบุหรี่ การควบคุมตัวบุหรี่ และมาตรการทางสังคมอื่น ๆ
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ประมวลกฎหมาย ให้ลงโทษคนเสพยาอย่างพอเหมาะพอสม ให้สอดคล้องกับแนวคิดว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นผู้มีปัญหาที่ต้องรับการบำบัด ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ต้องเตรียมศักยภาพในการบำบัดผู้ที่เสพเหล่านี้ ซึ่งคงเพิ่มมากขึ้น อาจต้องเพิ่มการบำบัดในระดับชุมชน ไม่ใช่สถานพยาบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งเห็นว่าจะมีการหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน สธ. เร็ว ๆ นี้” เลขาธิการ อย. กล่าว
เมื่อถามว่า อาจมีการปรับกฎหมายให้ผู้เสพยาไม่ต้องติดคุกเลยใช่หรือไม่ นพ.บุญชัย กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่แนวโน้มอาจต้องเป็นเช่นนั้น เพราะในเมื่อมองผู้เสพยาว่าเป็นผู้รับการบำบัดแล้ว การไปลงโทษโดยเอาไปขังคุกก็ไม่ใช่แนวทางที่จะเลือกในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้จะปรับยาบ้าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ แต่หากเป็นผู้ขายหรือผู้ผลิตก็ต้องมีโทษจำคุก เอาโทษกันเต็มที่เหมือนเดิม ทั้งนี้ การผลักดันแนวคิดนี้จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ความเข้าใจของประชาชน เพราะแต่ละแนวคิดก็มีข้อดีข้อเสีย จึงต้องทำให้ประชาชนเข้าใจก่อน ส่วนคนเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา ก็ต้องมาดูอะไรเหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่