xs
xsm
sm
md
lg

ยันถอด “ยาบ้า” เป็น “วัตถุออกฤทธิ์” โทษยังแรง ไม่การันตีลดผู้เสพ คาดจัดกลุ่มเดียว “ซูโดฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. ชี้ถอด “ยาบ้า” จากยาเสพติดอยู่ที่นโยบายฝ่ายการเมือง จับตาจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทใด ระบุ หากเป็นประเภท 2 อยู่กลุ่มเดียว “ซูโดฯ” ขายใน รพ. ได้ แต่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ยันโทษรุนแรงเหมือนยาเสพติด แต่ไม่การันตีลดจำนวนผู้เสพจริงหรือไม่ แนะรอดูผลลัพธ์

จากกรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอแนวคิดในการเปลี่ยนสารในกลุ่มแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นวงกว้าง

วันนี้ (20 มิ.ย.) นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า การจะถอดสารกลุ่มแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 นั้น อยู่ที่นโยบายของฝ่ายการเมืองว่าเป็นอย่างไร เหมือนตอนที่ปรับขึ้นเป็นยาเสพติดให้โทษก็เป็นเพราะนโยบายของฝ่ายการเมือง อย่างไรก็ตาม การถอดยาบ้าออกจากยาเสพติดไปเป็นวัตถุออกฤทธิ์นั้น เข้าใจว่า เพื่อช่วยลดผู้ต้องขัง และเพิ่มการเข้าถึงการบำบัดให้มากขึ้น ซึ่งทางกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต และโรงพยาบาล ก็ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของการบำบัด แต่เป้าหมายใหญ่ที่ประเทศไทยต้องการ คือ ลดการเสพยาเสพติดลง ท้ายที่สุดก็ต้องมาดูว่าสามารถลดการเสพยาลงได้หรือไม่ เพราะหากแค่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบำบัดเพียงอย่างเดียว แต่ลดจำนวนผู้เสพไม่ได้ก็ไม่ตอบโจทย์

นพ.บุญชัย กล่าวว่า การถอดยาบ้าจากยาเสพติดให้โทษเหลือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ก็ต้องมาดูว่าจะกำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทไหน ซึ่งมี 4 ประเภท ตาม พ.ร.บ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 หากเป็นประเภท 2 ก็จะอยู่ในประเภทเดียวกับกลุ่มซูโดอีเฟดรีน คือ ขายได้เฉพาะโรงพยาบาล หรือคลินิกที่มีใบอนุญาตครอบครอง และต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น หากเป็นประเภท 3 หรือ 4 ขายในร้านขายยาที่มีใบอนุญาตครอบครอง แต่ต้องรายงานจำนวนและปริมาณที่ขายต่อเดือน เช่น กลุ่มยานอนหลับ เป็นต้น

“แม้จะถอดออกจากการเป็นยาเสพติดเหลือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ยังต้องดูแลเข้มงวด เพราะถือว่าเป็นยาที่ห้ามผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีข้อยกเว้นและหลักเกณฑ์กำหนดไว้ เช่น ประเภทที่ 2 ขายได้ในโรงพยาบาลหรือที่คลินิกที่มีใบอนุญาต และต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ เป็นต้น ไม่ได้ปล่อยให้ใช้หรือขายอย่างอิสระแต่อย่างใด ทั้งนี้ ยืนยันว่า บทลงโทษของวัตถุออกฤทธิ์นั้นรุนแรงพอ ๆ กับบทลงโทษของยาเสพติดให้โทษ จึงไม่ต้องเป็นกังวล” เลขาธิการ อย. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น