xs
xsm
sm
md
lg

เคลียร์ 7 ข้อสงสัย กม.คุม “นมผง” หลังเครือข่ายกุมารแพทย์อ้างสุดโต่ง ทำร้ายเด็กไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีข้อมูลชัดเจนจากองค์การอนามัยโลก ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน ช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน มีภูมิต้านทานช่วยป้องกันการเจ็บป่วยได้หลายโรค ทั้งยังเสริมสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูกด้วย สำหรับประเทศไทย การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากคือร้อยละ 12.3 ในปี 2555 แต่จากการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ทั้งจากกรมอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ฯลฯ ส่งผลให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 ในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่ายังต่ำอยู่ดี

ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อย เพราะการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของบริษัทนมผง แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีกฎหมายห้ามโฆษณานมสูตร 1 สำหรับทารกอายุ 0 - 12 เดือน และ นมสูตร 2 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - 3 ปี แต่ไม่ได้ห้ามเรื่องการส่งเสริมการตลาด ทำให้บริษัทนมอาศัยช่องว่างเหล่านี้ทำการตลาดแบบผิดจริยธรรม คือ การเข้าถึงแม่ของเด็กโดยตรง การลดแลกแจกแถมผลิตภัณฑ์ เพื่อดึงดูดให้แม่หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผงแทน

ขณะที่นมสูตร 3 สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป และทุกคนในครอบครัว ซึ่งสามารถโฆษณาได้ แต่ห้ามใช้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบเป็นพรีเซนเตอร์ ก็มีการนำเด็กอายุมากกว่า 3 ขวบเล็กน้อยมาโฆษณาชักจูงว่านมมีประโยชน์ เช่น การโฆษณามีสาร DHA และ ARA เพื่อให้ดูเหมาะสมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อชักจูงให้เกิดการซื้อผลิตภัณฑ์ ทั้งที่จริงแล้วไม่จำเป็นสำหรับทารกเลย

จากปัญหาเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้ต้องมีการร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ (Code milk) เพื่อขัดขวางการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดที่ไม่เหมาะสม โดยครอบคลุมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ก็ไม่แคล้วที่จะมีคนออกมาคัดค้าน โดยกล่าวหาว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความสุดโต่งเกินไป

ล่าสุด เครือข่ายกุมารแพทย์ได้ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยขอให้ลดการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกเพียงอย่างเดียว คือ ควบคุมตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปีเท่านั้นซึ่งเป็นจุดหมายเดียวกับบริษัทนมผงที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อ สนช. ไปก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า การควบคุมอาหารสำหรับเด็กเล็ก คือ อายุ 1 - 3 ปีด้วยนั้น จะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามวัยอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็กให้ไม่สามารถโฆษณาได้ เช่น นมกล่อง นมสด นมเปรี้ยว เป็นต้น ทำให้เด็กอาจไม่ได้รับโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย เพราะอาหารที่มีประโยชน์โฆษณาไม่ได้ แต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์อย่างพวกขนม น้ำอัดลมสามารถโฆษณาได้ตามปกติ โดยเสนอทางออกว่าให้มีการเขียนข้อบังคับเพิ่มเติมว่าห้ามผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กเล็กทำผลิตภัณฑ์ให้มีความคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและห้ามโฆษณาข้ามกลุ่มมายังทารก

พร้อมทั้งขอให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวไม่ควบคุมถึงนมทางการแพทย์ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทารกที่ดื่มนมแม่ไม่ได้ นอกจากนี้ ยังกังวลว่าบุคลากรสาธารณสุขจะไม่สามารถให้ข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะอาจเป็นการโฆษณาหรือส่งเสริมการตลาดด้วย

ซึ่งหลังจากการออกมาแถลงข่าว ส่งผลให้เกิดกระแสดรามาขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มกุมารแพทย์ที่เสียงแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. และกลุ่มที่คัดค้าน ทั้งนี้ ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยต่างๆ ว่า ร่าง พ.ร.บ. คุมการตลาดนมผงดังกล่าว จะสุดโต่ง ส่งผลกระทบอย่างที่เครือข่ายกุมารแพทย์กังวลหรือไม่นั้น นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมาช่วยไขข้อข้องใจ ดังนี้

1. ประเด็นทำไมต้องควบคุมอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กถึง 3 ปี

นพ.ธงชัย กล่าวว่า การกำหนดให้อาหารทารกและเด็กเล็กครอบคลุมถึงเด็กอายุ 3 ปี เนื่องจากประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ออกตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการควบคุมโฆษณานมสูตร 1 และสูตร 2 ซึ่งก็ควบคุมถึงเด็ก 3 ปีอยู่แล้ว การออกกฎหมายใหม่เป็น พ.ร.บ.จึงไม่ควรกำหนดให้ครอบคลุมน้อยกว่าประกาศ อย. อีกทั้งองค์การอนามัยโลกก็แนะนำให้ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กถึงอายุเด็ก 3 ปี และมีการศึกษายืนยันทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลียว่า มีการโฆษณาในลักษณะข้ามสินค้า (Cross Promotion) เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะนมสูตร 3 ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพราะเป็นนมทั่วไปที่ทุกคนดื่มได้ แต่กลับมีการโฆษณาให้คล้ายกับอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และมีสัญลักษณ์สินค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับนมสูตร 1 และสูตร 2 จึงเป็นการโฆษณาข้ามสินค้า เพราะเมื่อแม่เห็นสัญลักษณ์ของนมสูตร 3 แต่เมื่อไปเดินซื้อเห็นสัญลักษณ์นมสูตร1 สูตร 2 ที่เหมือนกับสูตร 3 ก็ทำให้ซื้อนมสูตร 1 และสูตร 2 ได้ ทั้งที่เห็นจากโฆษณาของนมสูตร 3 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดในกฎหมายใหม่ให้ครอบคลุมถึงอาหารเด็ก 3 ปี

“อย่างไรก็ตาม แม้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงนมสูตร 3 แต่เมื่อมีกฎหมายออกมาแล้ว ก็เชื่อว่าการโฆษณาลักษณะข้ามสินค้าของนมสูตร 3 จะลดลง เพราะมีกฎหมายที่เอาจริงเอาจัง” นพ.ธงชัย กล่าว

2. ประเด็นการกำหนดในร่าง พ.ร.บ. ให้ชัด ห้ามผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กเล็กโฆษณาข้ามสินค้าให้เข้าใจถึงอาหารสำหรับทารก แทนการครอบคลุมถึงอายุ 3 ปี และการแยกสัญลักษณ์ระหว่างนมสูตร 1 สูตร 2 และสูตร 3 ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการโฆษณาข้ามสินค้า

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ในทางกฎหมายคงระบุเฉพาะเจาะจงไม่ได้ ต้องเขียนแบบกว้างๆ ซึ่งเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. คือ การควบคุมการส่งเสริมการตลาด เพราะปัจจุบันประกาศของ อย. มีการควบคุมโฆษณานมสูตร 1 สูตร 2 ซึ่งควบคุมตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปีอยู่แล้ว แต่ไม่ครอบคลุมถึงการส่งเสริมการตลาด จึงต้องมีการออกร่าง พ.ร.บ. ออกมาเช่นนี้ เพื่อครอบคลุมถึงการส่งเสริมการตลาดด้วย เพราะฉะนั้น การออกเป็น พ.ร.บ. ใหม่จะครอบคลุมภาพรวมทั้งการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาด เพราะหากกำหนดแยกสัญลักษณ์ระหว่างนมสูตร 1 สูตร 2 สูตร อาจเข้าข่ายการกีดกันทางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้

3. ประเด็นการควบคุมครอบคลุมถึงอาหารอื่นๆ เช่น นมกล่อง ผัก เนื้อสัตว์ เพราะเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปหรือไม่

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามกินหรือห้ามขายนมผงแต่อย่างใด แต่เจตนารมณ์คือต้องการควบคุมการโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่เกินจริง รวมถึงการตลาดที่เป็นการลด แลก แจก แถม ส่วนที่ว่าจะครอบคลุมไปถึงอาหารอื่นหรือไม่นั้น น่าจะเป็นเรื่องของการตีความที่ผิด เพราะเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะครอบคลุมเฉพาะอาหารหรือนมที่ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็กกับ อย. เท่านั้น ดังนั้น อาหารอื่นๆ ที่คนทั่วไปก็รับประทาน ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก อย่างนมทั่วๆ เช่น นมจิตรลดา นมสด นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เป็นต้น จึงไม่ครอบคลุมในร่าง พ.ร.บ. อย่างที่กังวล

4. ประเด็นครอบคลุมนมทางการแพทย์ ที่จำเป็นสำหรับทารกที่ไม่สามารถดื่มนนมแม่ได้ และไม่สามารถรับบริจาคนมจากบริษัทผู้ผลิตได้ จะเป็นการผลักภาระให้แก่ผู้รับบริการ

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ยืนยันเหมือนเดิมว่า ไม่ครอบคลุมนมทางการแพทย์อยู่แล้ว ซึ่งทารกและเด็กเล็กที่จำเป็นต้องใช้นมทางการแพทย์ ก็ต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ และกฎหมายยังเว้นให้สามารถรับบริจาคจากบริษัทผู้ผลิตผู้นำเข้าได้เช่นเดิม

5. ประเด็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับนมของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ จะถือเป็นการโฆษณาส่งเสริมการตลาดหรือไม่

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ. เขียนชัดเจนว่า ควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของ “ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย” ดังนั้น การให้ข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลที่เป็นจริงของบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอยู่แล้ว จึงสามารถให้ข้อมูลความรู้ได้เช่นเดิม ไม่ได้ห้าม เพราะการให้ข้อมูลข้อเท็จจริง แตกต่างจากการโฆษณาซึ่งคือการโน้มน้าวชัดจูงให้มาซื้อ และถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะกระทำโดยมีเจตนาโฆษณาก็จะมีความผิด ส่วนการที่ระบุว่าโรงพยาบาลเข้าข่ายเป็นผู้ผลิต เพราะมีการแบ่งบรรจุนมนั้น และทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถให้ข้อมูลได้นั้นเป็นการตีความที่ผิด เพราะโรงพยาบาลไม่ใช่ผู้ผลิต ในส่วนของผู้ผลิตหมายถึงบริษัทในต่างประเทศที่มีอยู่ไม่กี่บริษัทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อาจมีการเขียนเพิ่มลงไปในร่าง พ.ร.บ. ให้ชัดเจนว่า เป็นการแบ่งบรรจุเพื่อการค้า ซึ่งส่วนของโรงพยาบาลไม่ได้เป็นการแบ่งบรรจุเพื่อการค้าแต่อย่างใด ก็ถือว่าไม่เกี่ยวข้องตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวล

ส่วนการห้ามโฆษณานั้น ในร่าง พ.ร.บ. ใช้คำว่า “ผู้ใด” ดังนั้น จึงหมายถึงทุกคนห้ามทำการโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งปัจจุบันจะพบว่ามีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาโฆษณา ตรงนี้ก็จะห้ามด้วย

6. ประเด็นการห้ามบริษัทนมผงสนับสนุนการจัดประชุมอบรมหรือสัมมนาด้านวิชาการเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็กของหน่วยงานสาธารณสุข

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ ห้ามบริษัทผู้ผลิต นำเข้าจัดจำหน่ายในการจัดประชุม หรือสัมมนาเพื่อส่งเสริมการตลาดอยู่แล้ว แต่การสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขไม่ได้ห้าม สามารถสนับสนุนได้ เพียงแต่ห้ามมีการส่งเสริมการตลาด เช่น การโชว์แบรนด์ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีการออกนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้แล้ว แต่ครอบคลุมเฉพาะโรงพยาบาลสังกัด สธ. การออกเป็นกฎหมายก็จะครอบคลุมโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ทุกโรงพยาบาลด้วย

7.ประเด็นงานวิจัยประเทศเนปาล กัมพูชา ลาว พม่า อัตราการกินนมแม่สูง แต่เด็กกลับเตี้ย

นพ.ธงชัย กล่าวว่า การเจริญเติบโตของเด็กมี 3 ส่วนประกอบสำคัญ คือ อาหารหรือโภชนาการ การออกกำลังกาย และการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ 3 ส่วนนี้ต้องดีเด็กจึงเจริญเติบโตแข็งแรง สูง ไม่เตี้ย แต่งานวิจัยดังกล่าวซึ่งทำในกลุ่มประเทศที่ยังไม่พัฒนา ประชากรยังมีความยากจน กลุ่มประเทศเหล่านี้อัตราการกินนมแม่ย่อมสูง เพราะไม่มีเงินในการซื้อนมผง แต่ที่เด็กตัวเตี้ยนั้น เพราะด้วยความยากจนโภชนาการจึงไม่ดีพอ แม้แต่โภชนาการของแม่ ซึ่งเมื่อแม่โภชนาการไม่ไดี น้ำนมก็ไม่มีคุณภาพ แม้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสูง แต่ก็ทำให้เด็กเตี้ยได้ ซึ่งเป็นบริบทปัจจัยที่ต่างจากประเทศไทย ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกันที่ว่ากินนมแม่ แต่ก็ยังตัวเตี้ย
กำลังโหลดความคิดเห็น