xs
xsm
sm
md
lg

หมอเด็กหนุนโฆษณา “นมผง” เด็กเล็ก แต่ห้ามโฆษณากลุ่มทารก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กุมารแพทย์ค้านร่าง พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ คุมการตลาดนมผงถึง 3 ปี ชี้ กระทบการโฆษณา “อาหารเสริมตามวัย” หวั่นเดินสายให้ข้อมูลทางวิชาการไม่ได้ แนะแก้ พ.ร.บ.คุมอาหารแค่เด็ก 1 ปี เปิดช่องโฆษณานมสำหรับเด็กเล็กได้ ชี้เป็นสิ่งจำเป็น แต่ห้ามโฆษณา - ทำการตลาดข้ามมากลุ่มทารก

วันนี้ (14 ธ.ค.) แพทยสภาร่วมกับเครือข่ายกุมารแพทย์ แถลงข่าวเรื่อง “เครือข่ายหมอเด็กออกโรง ชี้ พ.ร.บ. นมสุดโต่ง ทำร้ายเด็กไทย แนะแนวทางไก้ไขเหมาะสม” โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ทางเครือข่ายเห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... เพื่อควบคุมการโฆษณาและการตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่สำหรับทารก และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับการควบคุมจนถึงช่วงอายุ 3 ปี เพราะเขียนครอบคลุมกว้างจนเกินไป อาจสร้างปัญหาในทางปฏิบัติได้

ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการองค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติ (FAO) สำนักงานใหญ่ กล่าวว่า ต้องแยกให้ชัดระหว่างทารก คือ อายุ 0 - 12 เดือน และเด็กเล็กที่อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเห็นด้วยหากมีการควบคุมห้ามการโฆษณา หรือทำการตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่สำหรับทารก เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน แต่ไม่เห็นด้วยหากควบคุมในส่วนของอาหารสำหรับเด็กเล็กถึง 3 ปี เนื่องจากจะกระทบต่อการโฆษณาและการตลาดอาหารทุกชนิด เช่น นมสด นมกล่อง นมเปรี้ยว นมโรงเรียน อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารเสริมตามวัยที่เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปสามารถรับประทานได้แล้ว ก็จะผิดกฎหมายด้วย ซึ่งไม่ตรงกับเจตจำนงของกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ตามข้อแนะนำของกรมอนามัยคือ ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปให้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมตามวัยไปได้จนถึง 2 ปี และเพิ่มปริมาณอาหารจนเป็นการกินอาหารหลัก 3 มื้อ และดื่มนมวันละ 2 - 3 แก้วแทน ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับโภชนาการอย่างครบถ้วน

“พ.ร.บ. ดังกล่าวออกมาควบคุมอาหารสำหรับเด็กเล็กที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยอาหารด้วย ทั้งที่เป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป แต่กลับไม่ครอบคลุมและไม่ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารที่ไม่มีประโยชน์และเป็นโทษต่อเด็ก เช่น ขนม เครื่องที่มีน้ำตาลสูง เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องมีการแก้นิยาม พ.ร.บ. ให้ชัดเจน จึงเสนอว่าควรปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.เป็น ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก พ.ศ. ... เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ครอบคลุมอาหารสำหรับเด็กเล็ก” ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวและว่า หากจะส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ใช่แค่เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนให้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ยังต้องส่งเสริมโภชนาการของแม่ เพื่อเพิ่มคุณภาพของน้ำนมด้วย

รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ ประธานชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้ส่งผลต่อเรื่องความสูงของเด็กในอนาคต เพราะจากข้อมูลพบว่า กัมพูชา อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนสูงถึง 65.2% แต่เด็กเตี้ย 32% พม่า เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือน 23.6% อัตราเด็กเตี้ย 35% ลาวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือน 40.4% แต่เด็กเตี้ย 45% ขณะที่ไทยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ 12% แต่เด็กเตี้ยแค่ 10% อาหารเสริมตามวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ต้องรับประทาน แต่หากยึดตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็จะไม่สามารถทำการโฆษณาได้ อย่างนมผงสำหรับเด็กเล็กซึ่งถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับเด็กเล็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ก็ยังจำเป็นที่ต้องมีการโฆษณา มิเช่นนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะเจอแต่โฆษณาอาหารขยะ

ด้าน รศ.นพ.สรายุทธ สุภาพรรณชาติ ประธานชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนกังวลร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะครอบคลุมเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการหรือไม่ เพราะยังมีความก้ำกึ่งกันอยู่ว่าจะเป็นการตลาดหรือไม่ ทำให้บุคลากรสาธารณสุขมีความกังวลว่าไม่สามารถให้ความรู้หรือไปขึ้นเวทีให้ข้อมูลได้ ดังนั้น อยากขอให้ยกเว้นตรงนี้ไม่ให้มีใน พ.ร.บ. นอกจากนี้ เรื่องนมทางการแพทย์นั้นก็มีความกังวล อยากให้ใน พ.ร.บ.ระบุให้ชัดเลยว่าไม่ควบคุมนมทางการแพทย์

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากควบคุมเพียง 1 ปี ก็จะไม่แก้ปัญหากลุ่มอาหารสำหรับเด็กเล็ก เช่น นมสูตร 3 ที่มีการโฆษณาและทำการตลาดข้ามมายังกลุ่มทารก เพราะเดิมไม่ถูกควบคุม ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ. ก็ต้องกำหนดเพิ่มให้ชัดเจนว่าห้ามผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กเล็กทำการโฆษณาหรือทำการตลาดข้ามกลุ่มมายังทารก หากทำถือว่าผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องไปออก พ.ร.บ. ที่ครอบคลุมไปจนถึงอายุ 3 ปี ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างมากกว่า นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยกลไกอื่นด้วย เช่น การแยกสูตรนมใหม่ไม่ให้คร่อมกันเหมือนปัจจุบัน คือเหลือเพียงนมสูตร 6 - 12 เดือน และเป็นสูตร 1 - 3 ปี แยกกันให้ชัดเจน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถกำหนดได้ และโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) กำลังแก้ไขอยู่คาดว่าจะสำเร็จใน ก.ค. 2019 ตรงนี้ก็จะใช้บังคับการผลิตนมผงได้ทั้งหมด

รศ.นพ.สังคม กล่าวว่า ต้องมีมาตรการอื่นเสริมด้วย อย่าง อย. ต้องออกมาตรการเรื่องฉลากให้ชัดเจนว่าห้ามเคลมสรรพคุณของส่วนผสมต่างๆ ว่าดีอย่างไร สามารถบอกได้เพียงว่ามีส่วนผสมอะไรและต้องใช้ขนาดอักษรเท่ากัน ไม่ได้ทำให้โดดเด่นเพื่อโฆษณาดึงดูด ทั้งนี้ ประเด็นทั้งหมดที่ห่วงกังวลเคยชี้แจงไปแล้วในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็มีการแก้ไข แต่สุดท้ายกลับเสนอร่าง พ.ร.บ. ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามแบบฉบับเดิมที่ยังไม่มีการแก้ไข อย่างเรื่องอาหารทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับทารกที่ไม่สามารถใช้นมแม่ได้นั้นก็ยังรวมอยู่ในร่าง พ.ร.บ.

กำลังโหลดความคิดเห็น