xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดนมโรงเรียนปรับเกณฑ์ใหม่รับเทอม 2 “แก้นมบูด” คืนสิทธิเอกชนพื้นที่อีสาน-ห้ามขายต่างประเทศเด็ดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ดนมโรงเรียนคืนสิทธิ “บริษัท ทุ่งกุลาแดรี่ ฟูดส์ จำกัด” เข้าร่วมโครงการพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ปีการศึกษา 2559 ภาคเรียนที่ 2 ตามคำสั่งศาลปกครองอุบลราชธานี พร้อมปรับหลักเกณฑ์ใหม่ให้ได้มาตรฐาน พบเร่งลดค่าเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนม ขีดเส้นผู้ประกอบการตรวจสอบหน้าโรงนม “แก้ปัญหานมบูดเร็ว” ตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำสัญญาให้ชัดเจน เผยยังห้ามนำนมโรงเรียนออกขายต่างประเทศ เผยเตรียมเปิดตัวกล่องนมโรงเรียนแบบใหม่เร็วๆ นี้

วันนี้ (4 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ได้เห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2559 และปรับเปลี่ยนรายชื่อผู้ประกอบการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 2/2559 ก่อนชี้แจงต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ โดยการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้เพื่อให้ได้มาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการนมโรงเรียน ภาคเรียนที่ 2/2559 ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการและจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม )โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 2/2559 กรณีผู้ประกอบการเดิมถูกตัดสิทธิทันทีไปก่อนหน้านั้น

“มีการพิจารณาเพิ่มผู้ประกอบการรายเดิม กรณีที่ศาลปกครองอุบลราชธานี มีคำสั่งทุลาการบังคับคดีตามคำสั่งศาลปกครอง วันที่ 29 ตุลาคม 2559 ในคดีหมายเลขดำ ที่ 150/2559 ที่บริษัท ทุ่งกุลาแดรี่ ฟูดส์ จำกัด ฟ้องคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม โดยศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีผู้ถูกฟ้องไว้เป็นการชั่วคราวก่อนศาลจะพิจารณา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมได้เห็นชอบให้บริษัท ทุ่งกุลาแดรี่ ฟูดส์ จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการต่อไปในภาคเรียนที่ 2/2559 ตามคำสั่งศาลจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา”

สำหรับหลักเกณฑ์และแนวทางปฎิบัติ ตามประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2559 โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 10 (2) (4) และ (8) แห่ง พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551 โดยให้ยกเลิกประกาศฉบับลงวันที่ 5 เมษายน 2559 และฉบับลงวันที่ 29 เมษายน 2559

ทั้งนี้พบว่า มีการปรับคุณภาพที่ผู้ประกอบการต้องมี เช่น ปรับลดนมโคที่มีค่าเซลล์เม็ดเลือดขาว ไม่เกิน 6 แสนเซลล์/ลบ.ซม. (จากเดิม 6.5 แสนเซลล์/ลบ.ซม.)โดยตรวจสอบน้ำนมก่อนผลิตที่หน้าโรงงานผลิต ทั้งนี้ยังมีเป้าหมายที่จะลดค่าเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนม ไม่เกิน 500,000 เซลล์ ภายในปี 2560 ให้ปรับเพิ่มการใช้น้ำนมโคที่มีปริมาณของแข็งรวม ไม่ต่ำกว่า 12.20% (จากเดิม 12.15%) โดยตรวจสอบน้ำนมก่อนผลิตที่หน้าโรงานผลิต

มีการเพิ่มข้อความกรณีผู้ประกอบการต้องดูแลสถานที่ผลิตอย่างสม่ำเสมอ โดยผลตรวจประเมินสถานที่ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีคะนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70% (จากเดิมไม่ระบุคะแนนรวมไว้)

อย่างไรก็ตาม ระเบียบฉบับนี้ยังคงเกณฑ์การจำหน่ายนมโรงเรียนภายในประเทศ ข้อ 6.6.6 ที่ระบุว่า “ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ที่เข้าร่วมโครงการฯ ดำเนินกาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมเฉพาะภายในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ภายในประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่า มีการปรับมาตรการตรวจสอบ และควบคุม การผลิตและจำหน่ายนมโรงเรียนของผู้ประกอบการ ที่จากเดิมทุกวันที่ 5 ของเดือนต้องรายงานยอดการใช้นม ยอดการผลิตและยอดการส่งมอบรายเดือนให้ อ.ส.ค.รับทราบ โดยปรับเปลี่ยนมาเป็นต้องส่วนรายละเอียดมายัง อ.ส.ค.ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา

ทั้งนี้ยังให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์เพื่อเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีผู้ประกอบการ ไม่สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ หากถูกตัดสิทธิ หรือถูกลดสิทธิ หรือถูกยกเลิกสัญญา ผิดสัญญาทุกกรณีหรือเลิกกิจการ นอกจากนี้ยังให้หน่วยจัดซื้อทำสัญญาซื้อขายทุกขั้นตอนให้ชัดเจน

ดูรายชื่อผู้ประกอบการโครงการนมโรงเรียนทั่วประเทศ ปีการศึกษา 2559 /2 http://www.schoolmilkthai.com/index.php?option=com_milk&view=companys&Itemid=289


กำลังโหลดความคิดเห็น