xs
xsm
sm
md
lg

“นมบูด-ขายเขมร” พ่นพิษ! แจ้ง อปท.ตัดสิทธิ์ 9 ผู้ประกอบการนมโรงเรียนเทอม 2 ปี 59-นมชื่อดังโดนด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แจ้ง อปท.ทั่วประเทศ ตัดสิทธิ์ส่วนที่เหลือทันที 9 รายชื่อผู้ประกอบการ “นมโรงเรียน” เทอม 2 ปีการศึกษา 59 คาด “ปัญหานมบูด-แอบขายต่างประเทศ” เผย “ไทย-เดนมาร์ค” ถูกตัดสิทธิ์ 2 แห่ง อยู่ในข่ายภาคใต้ที่ถูกตัดสิทธิ์ 3 แห่ง ส่วนภาคอีสานถูกตัดสิทธิ์ 6 แห่ง ระบุนมโคจากสถาบันดังก็ถูกตัดสิทธิ์ เผยปีงบ 60 ของ อปท.ได้รับเงินหนุนเฉพาะนมโรงเรียนกว่า 1 หมื่นล้านบาท โอนแล้วไตรมาสแรก 72 ล้านบาท

วันนี้ (17 ต.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เพื่อแจ้งให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เพิ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณ (นมโรงเรียน) รับทราบ ผลการลงโทษผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม จำนวน 9 ราย และคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าดำเนินการแทนผู้ประกอบการที่ถูกลงโทษ ตามมติของ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ที่ลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำความผิดตามประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงาน โครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียน ปีการศึกษา 2559 ข้อ 6.5.3 โดยให้ลงโทษผู้ประกอบการตามข้อ 26.1.1 “ให้ตัดสิทธิส่วนที่เหลือทันที ตลอดปีการศึกษา 2559” ตามมติคณะอนุกรรมการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษและพิจารณาอัตราเบี้ยปรับ

ประกอบด้วย 1. ลงโทษสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด ให้ สหกรณ์โคนมชะอำ-ห้วยทราย จำกัด ดำเนินการแทน 2. ลงโทษสหกรณ์โคนม ไทย-เดนมาร์ค อ่าวน้อย จำกัด ให้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคใต้ ดำเนินการแทน 3. ลงโทษบริษัท สุราษฎร์เฟรชมิลล์ จำกัด ให้ สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกด แทน 4. ลงโทษบริษัท ทุ่งกุลาแดรี่ฟู้ดส์ จำกัด 5. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น และ 6. บริษัท ส่งเสริมผลิตภัณฑ์นม จำกัด โดยทั้งหมดนี้ให้ อ.ส.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการแทน

7. ลงโทษ บริษัท ทีเอฟเอ็มเอฟ ฟู้ดส์ จำกัด ให้ สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด ดำเนินการแทน 8. ลงโทษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ให้บริษัท แมรี่แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด ดำเนินการแทน และ 9. ลงโทษสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก ให้สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด ดำเนินการแทน

มีรายงานว่า การคัดเลือกให้ผู้ประกอบการใหม่เข้ามาดำเนินการแทนนั้น เป็นการเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้กระทบกับการดื่มนมของนักเรียนและการส่งนมของเกษตรกร ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โดยสมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงนมและแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ได้เข้ามาบริหารจัดการและคัดเลือกกันเอง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเดิมส่วนใหญ่ถูกตัดสิทธิ์จากเหตุการณ์นมโรงเรียนบูด และบางส่วนถูกนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยที่ บอร์ดโคนมฯ ไม่ได้รับรู้ โดยเฉพาะจากผลการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพตัวอย่างนมโรงเรียนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 (หนังสือ สธ.1010.5/9018 ลงวันที่ 5 ส.ค. 2559)

สำหรับเงินอุดหนุนทั่วไปที่จัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จํานวน 207,352,624,300 บาท เป็นเงินอุดหนุนสําหรับสนับสนุนอาหารเสริม (นม) จํานวน 10,818,498,700 บาท

โดยล่าสุดมีการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอน ประจำไตรมาส 1 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2559) ด่วนที่สุด ที่ มท 0816.2/ว 2028 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2559 จัดสรรเฉพาะ โครงการนมโรงเรียนแล้วรวม 72,625,005 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น