xs
xsm
sm
md
lg

“อ.ส.ค.” แจงปมร้อน 2.5 พันล้าน ปัดล็อกสเปกเครื่องบรรจุนมไฮสปีด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - อ.ส.ค.แจงกรณีติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT แบบไฮสปีดที่โรงงานแปรรูปนมมวกเหล็ก วงเงิน 2,500 ล้านบาท ยันไม่ล็อกสเปก เพื่อเตรียมการรองรับนมดิบที่เพิ่มขึ้น 10% กันนมล้น เสริมศักยภาพการผลิตพร้อมแข่งขันตลาด

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า อ.ส.ค.ยืนยันว่าการจัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT แบบไฮสปีดที่โรงงานนม อ.ส.ค.ภาคกลาง อำเภอมวกเหล็ก วงเงิน 2,500 ล้านบาท ดำเนินการอย่างถูกต้อง รัดกุม โปร่งใส เป็นธรรม และไม่ได้ล็อกสเปกเอื้อแก่ภาคเอกชนรายใดรายหนึ่ง

อ.ส.ค.ต้องเพิ่มเครื่องบรรจุแบบไฮสปีด ซึ่งปัจจุบัน อ.ส.ค.ใช้แบบโลว์สปีด (Low Speed) กำลังผลิต 5,000 กล่อง/ชั่วโมง โดยเครื่องบรรจุแบบไฮสปีดจะมีกำลังการผลิต 23,000 กล่อง/ชั่วโมง เพื่อเตรียมการรองรับปริมาณน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และศูนย์รวบรวมนมดิบประมาณ 48 แห่งที่ลงนามบันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำนมโค (MOU) กับ อ.ส.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 10% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คสามารถแข่งขันได้ในตลาดทั้งภายใน และต่างประเทศ

“ปัจจุบัน อ.ส.ค.รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรสมาชิกเข้าสู่โรงงานแปรรูปของ อ.ส.ค. ทั้ง 5 แห่ง ประมาณ 600-650 ตัน/วัน ในส่วนของโรงงานนม อ.ส.ค.มวกเหล็กมีน้ำนมดิบเข้าสู่โรงงานเฉลี่ยสูงสุด 232 ตัน/วัน ซึ่งเกินกำลังการผลิตของเครื่องบรรจุนมแบบโลว์สปีดจำนวน 18 เครื่องที่มีกำลังผลิต 5,000 กล่อง/ชั่วโมง หรือประมาณ 210-220 ตัน/วัน อ.ส.ค.จำเป็นต้องขนส่งน้ำนมดิบส่วนเกินไปยังโรงงานแปรรูปในภูมิภาคต่างๆ วันละประมาณ 30-40 ตัน ทำให้สูญเสียค่าขนส่งสูงถึง 0.90-1 บาท/กิโลกรัม/วัน ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และบ่อยครั้งที่เครื่องบรรจุแบบโลว์สปีดมีปัญหาชำรุดหรือเครื่องจักรเสีย และการซ่อมแซมมีความล่าช้า ทำการผลิตไม่ได้และเกิดความสูญเสียถึง 2-4% ทั้งยังทำให้น้ำนมตกค้างแท็งก์ไม่สามารถลงน้ำนมจากรถบรรทุกได้ และทำให้นมเสียต้องเททิ้ง อ.ส.ค.จึงต้องปรับเปลี่ยนเครื่องบรรจุเป็นแบบไฮสปีดเพื่อลดความเสียหายและลดความเสี่ยงจากปัญหาดังกล่าว” ดร.ณรงค์ฤทธิ์กล่าว

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวย้ำอีกว่า การประกวดราคาติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT แบบไฮสปีด ไม่มีการล็อกสเปก แต่เนื่องจากในโลกนี้มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่ผลิตเครื่องบรรจุนมแบบไฮสปีด คือ บริษัท เต็ดตราแพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อก จำกัด อ.ส.ค.จึงได้เชิญทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวเข้ามายื่นซองประกวดราคาบนพื้นฐานทีโออาร์ (TOR) เดียวกัน ผลปรากฏว่า บริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อกฯ ชนะการประกวดราคา

สำหรับผลการประกวดราคาโครงการฯนี้ใช้วงเงิน 2,500 ล้านบาท เป็นค่าเช่าเครื่องบรรจุนมแบบไฮสปีด 3 เครื่องๆ ละ 1,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 7 ปี วงเงินรวม 420 ล้าน ทั้งยังมีค่ากระดาษที่ใช้ผลิตกล่องนมตามที่ อ.ส.ค.ได้ประมาณการผลิตไว้ล่วงหน้า 7 ปี ค่าดูแลรักษาและบำรุงเครื่องจักรและอื่นๆ ซึ่งราคาที่บริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อกฯเสนอวงเงิน 2,500 ล้านบาทนั้น ถูกกว่าราคาของบริษัท เต็ดตราแพ้คฯ ปีละ 23 ล้านบาท หากคิดระยะเวลา 7 ปี เป็นเงินสูงถึง 161 ล้านบาท บริษัท เอสไอจี คอมบิบล็อกฯจึงจะชนะประกวดราคา” ผอ.อ.ส.ค.กล่าว
เบื้องต้นคาดว่า การติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT แบบไฮสปีดจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมกราคม 2560 และสามารถเดินเครื่องผลิตได้





กำลังโหลดความคิดเห็น