xs
xsm
sm
md
lg

อย.เร่งคุมการผลิต “นม” ให้ได้มาตรฐาน สืบสานพระราชปณิธาน “พระบิดาแห่งการโคนมไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. สืบสานพระราชปณิธาน ในหลวง ร.๙ “พระบิดาแห่งการโคนมไทย” เร่งควบคุมคุณภาพนมโรงเรียน การผลิตนมให้ได้มาตรฐาน เพื่อคนไทยดื่มนมที่มีประโยชน์และคุณภาพ

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักว่า นมมีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ จึงมีโครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากน้ำนมโค สวนจิตรลดา หลายโครงการ โดยเมื่อปี 2505 ตั้งโรงโคนมสวนจิตรลดา ปี 2512 โรงนมผงสวนดุสิต ปี 2527 โรงนมเม็ดสวนดุสิต ปี 2530 โรงเนยแข็งสวนจิตรลดา และ ปี 2546 โรงนมยูเอชที สวนจิตรลดา และในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ได้รวมกลุ่มกันดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์ตามแนวพระราชดำริ ที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทำให้ผลิตน้ำนมได้มากกว่าร้อยละ 85 ของผลิตผลทั้งประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลและภาคเอกชนดำเนินการส่งเสริมการทำฟาร์มโคนม และเกิดการแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมนมครบวงจร และรณรงค์การบริโภคนมทั้งในภาคการศึกษาของรัฐ และผู้บริโภคทั่วไป จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในด้านการส่งเสริมการเลี้ยงนมโค และการบริโภคนมของประชากร

“พระราชกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่อกิจการโคนมไทยดังกล่าว จึงทรงได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการโคนมไทย” ซึ่งรัฐบาลได้น้อมนำพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการจัดทำโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในปี 2535 เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร และภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ด้วยเห็นว่า เด็กควรจะได้ดื่มนม ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อันจะส่งผลให้พัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ” รมว.สธ. กล่าว

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ให้ความสำคัญกับคุณภาพนมโรงเรียน โดยมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิตทุกขั้นตอน โรงงานแปรรูปนมที่ดีจะต้องได้รับอนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร และขึ้นทะเบียนตำรับอาหารจาก อย. มีการคัดเลือกน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ผลิตอย่างถูกสุขลักษณะตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี หรือ จีเอ็มพี ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานของ อย. อย่างสม่ำเสมอ และควบคุมสายส่งในด้านสุขลักษณะ และการควบคุมอุณหภูมิของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามาตรฐานจนถึงโรงเรียน นอกจากนี้ อย. ยังเฝ้าระวังสถานที่ผลิตนมโรงเรียนให้เป็นไปตามเกณฑ์จีเอ็มพี โดยตรวจประเมินสถานที่ผลิตร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หากพบผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จะต้องปรับแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งสั่งงดการผลิต

ทั้งนี้ อย. ยังคงเดินหน้าสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการควบคุมคุณภาพนมโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยนมโรงเรียนตลอดห่วงโซ่ และพัฒนาศักยภาพการตรวจประเมินสถานที่ผลิตนมโรงเรียนของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยจัดอบรมการตรวจประเมินสถานที่ผลิตนม ทั้งชนิดพาสเจอร์ไรซ์ และนมยูเอชที ให้แก่เจ้าหน้าที่ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เทคนิคการตรวจประเมินสถานที่ การกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน ให้ครอบคลุมกระบวนการทั้งระบบ ตั้งแต่น้ำนมดิบ กระบวนการผลิต หรือการแปรรูปจนถึงมือผู้บริโภค เพื่อให้เด็กไทยได้ดื่มนมที่มีคุณภาพมาตรฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น