xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : อันตราย..ผู้ป่วย “เบาหวาน - ความดัน” ถ้าไม่กินยา จะเป็นโรคไต หัวใจ เร็วขึ้น!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงไม่ยอมกินยารักษาต่อเนื่องเพราะเข้าใจผิดคิดว่ากินยาทุกวันจะทำให้ไตวายเร็ว ตับแข็ง

นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานบูรณาการดูแลสุขภาพ 5 กลุ่มวัยในตำบลจัดการสุขภาพของ อสม.ในพื้นที่ 4 ภาค ได้รับรายงาน 2 เรื่องสำคัญที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจประชาชน

เรื่องแรกเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินยาของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่พบมากที่สุดทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยมีผู้ป่วยบางคนไม่กล้ากินยารักษาที่แพทย์สั่ง เพราะยามีหลายเม็ดต้องกินทุกวัน กลัวว่าหากกินไปนานๆแล้วจะเป็นโรคไตวายเร็ว กลัวตับแข็ง อย่างเช่นบางพื้นที่ในจังหวัดนราธิวาส มีผู้ป่วยไม่ยอมกินยาต่อเนื่องในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 บางคนหยุดยาเอง เพราะเห็นว่าอาการปกติดี จะกินเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติเช่น รู้สึกมึนศีรษะ เป็นต้น พบมากในกลุ่มอายุ 40-60 ปี โดยมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่กินยาปฏิบัติตามการรักษาของแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60ปีขึ้นไป

“จึงขอย้ำเตือนและสร้างความเข้าใจว่าทั้ง 2 โรคนี้ เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ โดยผู้ป่วยต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การกินยาต่อเนื่องตามการรักษาของแพทย์ ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร

ผลของการกินยาต่อเนื่องจะป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ โรคไตวาย โรคหัวใจ และในทางตรงกันข้าม หากไม่กินยา ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมอาการได้ และจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่กล่าวมาได้เร็วขึ้น ส่งผลให้การดูแลยุ่งยากขึ้น”
นายแพทย์ประภาสกล่าว

นายแพทย์ประภาสกล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ 2 คือเรื่องการออกกำลังกาย ยังมีประชาชนทั้งที่ป่วยและไม่ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานประเภทต้องใช้แรงงานหนัก ทำงานในสวนไร่นา เช่น เกษตรกร เข้าใจผิดว่าการทำงานหนัก เป็นการออกกำลังกายเพียงพอแล้ว ไม่ต้องหาเวลาออกเพิ่มเติมอีก ซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้น การทำงานหนักไม่จัดว่าเป็นการออกกำลังกาย เนื่องจากขณะที่ทำงานเป็นช่วงที่สมองทำงานหนัก มีความเครียดด้วย ส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมาเรียกว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายมีความเหนื่อยล้าแทน

ส่วนการออกกำลังกายนั้น เป็นการทำกิจกรรมหลังจากเลิกทำงาน เลิกเรียน สมองจะอยู่ในช่วงพักผ่อน การออกกำลังกายจะกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนชื่อว่าเอนโดรฟิน (Endorphine) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ส่งผลให้รู้สึกสดชื่น อารมณ์ดี และนอนหลับสนิท ดังนั้น จึงพบว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้มีอารมณ์ดี ลดความเครียดได้

จึงได้ให้ อสม.ทั่วประเทศเร่งให้ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมาโดยเร็ว และกระตุ้นให้ประชาชนตั้งแต่อายุ 7 ขวบขึ้นไปออกกำลังกายต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพื่อทำให้สุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค ไม่ป่วยง่าย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 192 ธันวาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น