สบส. เตรียมคลอดร่างกฎกระทรวง สธ. พัฒนามาตรฐาน “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” กว่า 1,000 แห่ง ให้ได้มาตรฐานระดับสากล พร้อมพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุทุกกลุ่มในชุมชนและครัวเรือน
นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2557 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมด การเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยอย่างสมบูรณ์ ในปี 2568 นั้น สบส. มุ่งดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ 1. พัฒนาศักยภาพธุรกิจบริการสุขภาพผู้สูงอายุ หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาล ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ที่มีประมาณกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่า จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้มาตรฐาน โดยเตรียมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพมาตรฐานสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะพึ่งพิง ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการศึกษาวิจัย การดูแลผู้สูงอายุ และการฟื้นฟูส่งเสริมสุขภาพ เพื่อทำหน้าที่พัฒนาศักยภาพมาตรฐานสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงให้เป็นไปในระดับสากล และจัดทำเป็นร่างกฎกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะพึ่งพิงทั้งหมดเป็นการเฉพาะให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งจะมีผลดีต่อการดูแลผู้สูงอายุทั้งคนไทย รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจสุขภาพดูแลผู้สูงอายุจากต่างประเทศด้วย
นพ.ภัทรพล กล่าวว่า 2. การส่งเสริมระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนโดยสนับสนุนให้มีตำบลจัดการสุขภาพแบบบูรณาการสร้างความเข้มแข็งชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ในการดูแลสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสและการดูแลระยะยาวในชุมชน ดำเนินการทุกตำบลครบ 100% โดยอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 250,000 คน ให้เป็นนักจัดการสุขภาพกลุ่มวัย ดูแลทุกช่วงวัยที่มีอยู่ในชุมชน และขยายระบบการดูแลเข้าสู่ครัวเรือน โดยพัฒนาอาสาสมัครประจำครอบครัว หรือ อสค. ซึ่งคัดเลือกจากสมาชิกของครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตเรื้อรัง มาฝึกอบรมให้มีความรู้เรื่องสุขภาพ เช่น การควบคุมอาหาร การกินยา การออกกำลังกาย การดูแลจิตใจเบื้องต้น เริ่มรุ่นแรกในปี 2559 จำนวน 40,000 คน และปี 2560 ตั้งเป้าอบรมเพิ่มอีก 86,700 คนทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ระบบการดูแลสุขภาพด้วยตนเองระดับครอบครัวดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อรองรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและการดูแลระยะยาวในครอบครัวด้วย
ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งกรม สบส. จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดูแลผู้สูงอายุมีความครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สภาพแวดล้อมและบริการสาธารณะ