โซเชียลแชร์หนัก! งานวิจัยชี้ “คนไม่ดื่มเหล้า” ตายเร็วกว่า นักวิชาการ ชี้ เป็นงานวิจัยเก่าทำคนเข้าใจผิด ยัน “สุรา” ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ชี้ มีงานวิจัยน่าเชื่อถือระบุชัด ดื่มสุราน้อยไม่ช่วยลดอัตราตายเมื่อเทียบกับคนไม่ดื่ม
จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์แพร่ข้อมูลที่อ้างว่าเป็นงานวิจัยใหม่ในต่างประเทศ โดยระบุว่า คนไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย เสี่ยงตายก่อนวัยอันควรสูง โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยแม้กระทั่งจิบแอลกอฮอล์เลยแม้แต่น้อย มีอัตราการตายสูงที่สุด อัตราการตายลดลงมาในคนที่ดื่มหนัก และอัตราการตายน้อยที่สุดในคนที่ดื่มปานกลาง ที่ดื่มวันละ 1 - 3 แก้ว
วันนี้ (15 ธ.ค.) นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้มีการแชร์ข้อมูลต่อเป็นจำนวนมากจนทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากรายงานผลการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติตั้งแต่ปี 2553 หรือประมาณ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นงานวิจัยใหม่ตามที่กล่าวอ้าง ที่สำคัญ งานวิจัยนี้มาจากการบอกเล่าของกลุ่มตัวอย่างที่เคยดื่มหนักมาก่อน เป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มอัตราการตายโดยตรง โดยไม่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราเลย ซึ่งนักวิจัยเองก็ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดต่างๆ ของงานวิจัย ได้เตือนให้ผู้อ่านระมัดระวังในการแปลผลของงานวิจัย รวมทั้งผู้วิจัยยังเน้นย้ำอีกว่า การดื่มสุราเองก็เพิ่มความเสี่ยงของการหกล้ม และการดื่มหนักในคนกลุ่มนี้ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะเหล่านี้ได้ง่ายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขอให้สังคมใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูล หากทำตามจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า หลังจากงานวิจัยชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด ทั้งนี้ ศวส. ขอเสนอผลวิจัยที่เชื่อถือได้ จากงานวิจัยปี 2554 ของ Michael Roerecke และ Jurgen Rehm คือ ผู้ที่เลิกดื่ม หรือไม่ได้ดื่มใน 1 ปีที่ผ่านมา มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่าผู้ที่แทบจะไม่เคยดื่มเลยในชีวิต นอกจากนี้ ยังมีรายงานวิจัยล่าสุดปี 2558 ของ Professor Tim Stockwell และคณะ ได้รวบรวมงานวิจัยจำนวน 87 ชิ้น พบว่า การดื่มสุราในปริมาณน้อย หรือน้อยกว่า 20 กรัม ของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อวัน ไม่ได้ช่วยลดอัตราการตายลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มเลยในชีวิต หรือผู้ที่ดื่มเป็นครั้งคราว
“การใช้ข้ออ้างเรื่องสร้างเสริมสุขภาพจากสุรานับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากสุรามีโทษต่อสุขภาพและสังคมมากมาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่มีคุณภาพดีและน่าเชื่อถือที่ยืนยันถึงผลดีของสุราต่อสุขภาพ ประชาชนไทยควรหันมาสนใจวิธีการดูแลสุขภาพด้วยวิธีอื่นๆ ที่มีประโยชน์และไม่มีโทษ เช่น การออกกำลังกาย, การควบคุมอาหาร เป็นต้น มากกว่าการดื่มสุรา ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าข่าวแบบนี้มักจะออกมาในช่วงใก้ลถึงเทศกาลปีใหม่เสมอ ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นช่วงเวลาทำเงินของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ขอให้สังคมช่วยกันตรวจสอบและหยุดแชร์ข้อมูลในลักษณะนี้” ศ.พญ.สาวิตรี กล่าว