xs
xsm
sm
md
lg

ยูนิเซฟหนุน “ไซต์ก่อสร้าง” ปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิต “ลูกหลาน” แรงงานต่างด้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เสียงดังสนั่นของรถตอกเสาเข็มขนาดยักษ์ บอกให้ผู้คนที่สัญจรผ่านย่านหรูกลางใจเมืองรู้ว่ากำลังมีการก่อสร้างคอนโดมิเนียมโครงการใหม่เกิดขึ้น ใกล้ๆ กับบริเวณก่อสร้าง คือ ไซต์ของแรงงานซึ่งส่วนใหญมาจากประเทศเพื่อนบ้าน หนึ่งในหลายร้อยครอบครัวที่พักอาศัยอยู่ที่นี่มาเกือบ 2 ปีแล้ว คือ ครอบครัว “มะลิทอน” จากจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ประกอบด้วย คุณพ่อสมบูรณ์ คุณแม่ธอล ไทลูกสาวคนโต และสุทนลูกชายคนเล็ก

ไท ลูกสาวคนโตวัย 14 ปี เล่าว่า หากเป็นเมื่อก่อนเธอกับน้องจะล็อกห้อง และอยู่แต่ในห้องพักช่วงที่พ่อแม่ออกไปทำงาน จนกระทั่งพ่อได้มาทำงานที่ไซต์ก่อสร้างปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นไซต์ก่อสร้างเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือ พื้นที่สำหรับการเรียนรู้และสันทนาการ สำหรับตัวเธอ น้องชาย และลูกหลานแรงงานต่างด้าวอีกหลายสิบชีวิต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างความสุขให้กับเธออย่างยิ่ง เพราะเธอรักและชอบเรียนหนังสือมาก แม้ว่าตอนนี้เธอยังตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร

“หนูกลัวเวลาที่ต้องอยู่ลำพังกับน้อง เคยมีคนมาเคาะประตูห้องเวลาพ่อแม่ไปทำงาน แต่หนูไม่เปิดเพราะไม่รู้จัก แต่สำหรับที่นี่หนูได้ออกมานอกห้อง ได้เรียนหนังสือ ชอบเรียนเขียนและอ่านภาษาไทยและนับเลข” ไท กล่าว พร้อมเปิดสมุดแบบฝึกหัดคัดไทยดูด้วยความภูมิใจ

อุปกรณ์การเรียน - กีฬา ชุดปฐมพยาบาล และและสื่อการเรียนการสอนต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของเด็กๆ รวมทั้งอาหารการกินเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “พี้นที่สำหรับเด็ก เพลิน รู้ เรียน เล่น (Child-friendly Space)” เกิดจากความร่วมมือระหว่างแสนสิริ ยูนิเซฟ และพันธมิตรทางธุรกิจก่อสร้าง ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการรณรงค์ยุติการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ถูกละเลยจากสังคม

ทุกๆ วันที่ศูนย์แห่งนี้จะมีเด็กๆ อายุตั้งแต่ 5 - 15 ปี จำนวนประมาณ 30 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเด็กกัมพูชา พ่อแม่จะนำลูกหลานมาฝากไว้ที่ศูนย์ เพื่อเรียนหนังสือก่อนจะไปทำงานที่ไซต์ก่อสร้างคอนโดกลางใจเมืองแห่งนี ที่ศูนย์จะมีคุณครูจากศูนย์เมอร์ซี่คอยดูแลเด็กๆ

“เด็กๆ ในพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ว่าจะมาจากไหน พวกเขาก็ควรได้รับสิทธิเข้าถึงพื้นที่ที่ปลอดภัย รวมทั้งการศึกษาเรียนรู้ โภชนาการ ซึ่งเป็นพื้นฐานพัฒนาการเติบโตที่เหมาะสมกับวัยของเขา ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ยูนิเซฟให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำไปปฏิบัติใช้เพื่อโอกาสของเด็กๆ” นางณภัทร พิศาลบุตร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการสื่อสารของยูนิเซฟ กล่าว

วันนี้เด็กๆ กำลังฝึกฝนแบบฝึกหัดสนทนาภาษาอังกฤษ ด.ช.สุทน อายุ 5 ปี กำลังสนทนาถามตอบเป็นภาษาอังกฤษกับคุณครูอย่างคล่องแคล่ว เด็กๆ ที่ไซต์ก่อสร้างแห่งนี้ได้ฝึกฝนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสันทนาการ เช่น รำไทย เล่นฟุตบอล การ์ตูน ฯลฯ และค่านิยม 12 ประการ สลับหมุนเวียนตารางการเรียนรู้ตลอด 5 วัน

เด็กๆ กลุ่มนี้มีช่วงอายุที่หลากหลาย พวกเขาควรได้รับการพัฒนาทางวิชาการควบคู่กับพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาไปพร้อมๆ กัน และได้รับประโยชน์สูงสุดจากโอกาสการเรียนรู้ในพื้นที่เล็กๆ ที่เป็นบ้านของพวกเขาในปัจจุบัน

การเรียนการสอนที่นี่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แต่เพื่อเด็กๆ จะได้ไม่ลืมตัวตนรากฐานของตัวเอง ไทซึ่งโตกว่าเด็กคนอื่นๆ จึงได้มีโอกาสเป็นทั้งนักเรียน และผู้สอนวิชาอ่านเขียนภาษาเขมรไปด้วย

การเรียนภาษาประเทศเพื่อนบ้าน หากจะมองเข้ากับยุคสมัยของประชาคมอาเซียน ถือเป็นเรื่องดีที่เด็กๆ มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้านด้วย คุณครูก็ได้มีโอกาสเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ

ไท เล่าว่า ตนเองก็ชอบและรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้สอนน้องๆ ให้คัดเลขหนึ่งถึงสิบเป็นภาษาเขมร และตัวอักษรพยัญชนะภาษาบ้านเกิด ขณะเดียวกัน ความรู้ที่ได้จากการอ่านเขียนภาษาไทย เธอนำไปใช้ได้จริง อย่างน้อยก็สามารถสื่อสารกับพ่อค้าแม่ค้าช่วยไปซื้อกับข้าวได้ และยังช่วยพ่อแม่นับรายได้ค่าจ้างรายวันของพ่อแม่ด้วย คุณพ่อสมบูรณ์ พ่อของไท เล่าว่า ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่อ่านเขียนนับเลขไทยไม่เป็น บางคนโชคร้ายโดนโกงค่าแรงก็เคยมี

สำหรับเด็กวัยรุ่นอย่างเลิศ ประสบการณ์เลวร้ายจากการทำงานที่โรงงานขวดแก้ว จนทำให้นิ้วนางและนิ้วชี้ด้านซ้ายขาดไป ไม่ได้ทำให้เขาท้อถอยกับชีวิต ที่นี่เลิศไม่ได้ทำงานที่ไซต์ก่อสร้าง การติดตามยายและน้ามาเมืองไทย เพื่อช่วยยายเลี้ยงลูกของน้าเวลาที่น้าต้องไปทำงาน นับเป็นโอกาสดีที่ทำให้เขาได้เรียนหนังสือโดยเฉพาะวิชาภาษาไทย และได้เล่นฟุตบอล ถือเป็นความสุขของเขาเอง เวลาว่างเลิศจะออกไปข้างนอก ซื้อนมผงให้น้องแทนยายกับน้าได้ และนั่งรถออกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า ใกล้ๆ ที่พักคนเดียวได้

เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการพี้นที่สำหรับเด็ก เพลิน รู้ เรียน เล่น คือ ต้องการที่จะมอบโอกาสทางการเรียนรู้พื้นฐานสำคัญเบื้องต้นให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส ให้มีทักษะและพัฒนาการที่เหมาะสม ตลอดจนมอบพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาให้ปลอดภัยจากอันตราย หรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในสถานที่ก่อสร้าง เพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน โครงการนี้สามารถส่งต่อเด็กๆ กว่า 40 คน ให้เข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งในและนอกระบบได้

รายงานของยูนิเซฟ ระบุว่า การย้ายถิ่นฐานที่เป็นไปอย่างปลอดภัยและเป็นระบบ สามารถสร้างโอกาสที่ดีในชีวิตให้แก่เด็กและชุมชนใหม่ที่พวกเขาย้ายไปอาศัยอยู่ได้ และยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งมีทักษะและไม่มีทักษะได้เป็นอย่างดี และมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเจ้าภาพเติบโตขึ้นอีกด้วย

นางนภัทร พิศาลบุตร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการสื่อสารของยูนิเซฟ กล่าวว่า “เด็กๆ ในพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ว่าจะมาจากไหน พวกเขาก็ควรได้รับสิทธิในการมีพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเล่น รวมทั้งการศึกษาเรียนรู้ และการดูแลสุขภาพซึ่งเป็นพื้นฐานพัฒนาการเติบโตที่เหมาะสมกับวัยของเขา ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ยูนิเซฟให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำไปปฏิบัติใช้เพื่อโอกาสของเด็กๆ”

นางนภัทร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันยูนิเซฟกำลังผลักดันให้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสนใจเรื่องเด็กมากขึ้น โดยเน้นให้บริษัทต่างๆ ผนวกเรื่องสิทธิเด็กเข้าไว้ในนโยบายหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ แทนการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมรายครั้ง

ยกตัวอย่างเช่น แสนสิริได้ร่วมมือกับยูนิเซฟในการส่งเสริมสิทธิเด็ก โดยเริ่มจากการรณรงค์เรื่องสิทธิเด็กให้กับพนักงานก่อน จากนั้นได้มีการจัดห้องสำหรับบีบเก็บน้ำนมแม่ในสำนักงานของแสนสิริ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะในการเลี้ยงดูเด็กให้กับพนักงานที่มีลูก ต่อมาแสนสิริได้นำแนวคิดเรื่องสิทธิเด็กมาเชื่อมกับนโยบายและการดำเนินธุรกิจของบริษัท และขยายไปสู่คู่ค้าและสังคมภายนอก โดยได้ออกนโยบายการไม่ใช้แรงงานเด็ก และจัดสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับลูกคนงานก่อสร้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับธุรกิจของแสนสิริอยู่แล้ว

“ทุกองค์กรสามารถมีส่วนในการพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็ก เราสามารถเริ่มจากสิ่งที่เกี่ยวข้องและอยู่ใกล้ตัว แล้วนำไปสู่การพัฒนาความยั่งยืนทั้งกับตัวเด็กและกิจการไปพร้อมกัน” นางนภัทร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น