เครือข่ายแรงงาน จี้ สปส. ออกกฎหมายลูก จ่าย “เงินเยียวยา” ผู้ประกันตนเจ็บตายจากการรับบริการทางการแพทย์ ยึดเกณฑ์จ่ายตามมาตรา 41 สิทธิบัตรทอง เบื้องต้น 240,000 บาท สูงสุด 400,000 บาท พร้อมให้ สปส. ไล่เบี้ยผู้กระทำผิด
จากกรณี สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้สิทธิผู้ประกันตนสามารถตรวจสุขภาพฟรีที่โรงพยาบาลคู่สัญญาตามสิทธิ เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2560 แต่มีข้อเสนอจากเครือข่ายแรงงานต่อ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า ไม่ควรกำหนดอายุในการตรวจสุขภาพ และควรเพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพช่องปากและการฝากครรภ์ในสิทธิการตรวจสุขภาพดังกล่าว
วันนี้ (27 ธ.ค.) นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า นอกจากข้อเสนอเรื่องสิทธิตรวจสุขภาพฟรี ตามมาตรา 63(2) พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ที่ให้เพิ่มการตรวจสุขภาพช่องปากและการฝากครรภ์ลงในสิทธิตรวจสุขภาพฟรีด้วย ยังมีประเด็นมาตรา 63(7) ค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ และให้ สปส. มีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้กระทําผิดได้นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการออกประกาศแนบท้ายมารองรับแต่อย่างใด ปัญหาคือ ที่ผ่านมาผู้ประกันตนเมื่อเกิดความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ จะไม่ได้รับเงินชดเชยเยียวยา แต่เมื่อมีมาตรา 63(7) ก็ถือเป็นความหวังที่จะช่วยผู้ประกันตนที่ประสบปัญหา ดังนั้น สปส. ควรมีการออกกฎหมายลูกมารองรับ เพราะในส่วนของสิทธิบัตรทอง ซึ่งบริหารโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ดำเนินการมานานแล้ว อย่างล่าสุดข่าวคน จ.สมุทรปราการ ที่ผ่าตัดผิดพลาดเสียชีวิตก็ได้รับเงินชดเชยจากมาตรา 41 สิทธิบัตรทองในจำนวนที่สูง
“ประกันสังคมก็ควรเร่งออกกฎหมายลูกเพื่อดูแลในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งงบประมาณไม่น่าจะมาก เพราะสิทธิบัตรทองที่มีกว่า 47 ล้านคน ใช้งบประมาณเรื่องเยียวยาเพียง 1,000 กว่าล้านบาท ส่วนประกันสังคมมีผู้ประกันตนประมาณ 10 กว่าล้านคนเท่านั้น งบประมาณไม่มากไปกว่าบัตรทองแน่นอน โดยเสนอว่าค่าใช้จ่ายในการเยียวยาไม่ควรด้อยไปกว่ามาตรา 41 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ด้วย คือ เบื้องต้น 240,000 บาท สูงสุด 400,000 บาท ส่วนจะเกณฑ์การเยียวยาตามนี้หรือไม่อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะวินิจฉัย ซึ่งหากผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วก็สามารถประกาศใช้ได้เลย” นายมนัส กล่าวและว่า ส่วนการพิสูจน์ถูกผิด เพียงแค่ให้ สปส. ไปไล่เบี้ยเอาเงินคืนจากผู้กระทำผิด ซึ่งที่ผ่านมาผู้รับผลกระทบก็มักเป็นคนไข้อยู่แล้ว
ด้าน นพ.สุรเดช กล่าวว่า ประเด็นการขอเพิ่มตรวจสุขภาพช่องปากและตรวจครรภ์นั้น จะมีการเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา โดยเรื่องการตรวจครรภ์ มีแนวโน้มว่าน่าจะปรับปรุงได้มากกว่า เพราะเป็นหนึ่งในอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งทุกวันนี้มีเรื่องการทำคลอดให้ 13,000 บาท รพ. ที่ไหนก็ได้ โดยผู้ประกันตนมาเบิกประกันสังคม โดยจุดนี้กำลังพิจารณาว่า หากมีการเพิ่มตรวจการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ จะต้องเพิ่มเท่าไร และการทำคลอดจะปรับเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องรอการพิจารณาอีกครั้ง แต่แนวโน้มมีโอกาสเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คงต้องขอให้ใช้ตามร่างเดิมไปก่อน ส่วนข้อกังวลเรื่อง ตรวจสุขภาพแล้วพบความผิดปกติ ต้องตรวจเพิ่มค่าใช้จ่ายอาจเป็นภาระของโรงพยาบาลนั้น ขอย้ำว่า หากมีความเสี่ยงและแพทย์ยืนยันว่าต้องตรวจเพิ่มเติมก็สามารถตรวจได้ และหากต้องรักษาก็ต้องรักษาต่อไป ซึ่งใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมได้ ขณะที่ประเด็นการเยียวยาผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ ยังมีประเด็นที่ต้องเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ เนื่องจากในกฎหมายระบุให้ สปส. ไล่เบี้ยผู้กระทำผิดได้ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เจตนารมณ์ที่ต้องการ