เครือข่ายแรงงาน ชี้ “ประกันสังคม” เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพอย่างเดียว แต่ยังไร้การส่งเสริมป้องกันโรคอย่างอื่น อาจขัดเจตนารมณ์ กม. ย้ำ ไม่ควรกำหนดอายุการตรวจ แนะระบุให้ชัดเตรวจเจอโรคต้องได้รับการรักษาทันที พร้อมเสนอเลขาธิการ สปส. วันที่ 26 ธ.ค.
จากกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตน โดยไม่เสยค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลตามสิทธิ เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2560 โดยแบ่งรายการตรวจตามช่วงอายุและความจำเป็น ซึ่งกลุ่มเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) มองว่าเป็นการจำกัดสิทธิ ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเบย์ ศรีนครินทร์ คปค. ร่วมกับเครือข่ายแรงงานกว่า 40 กลุ่ม ร่วมจัดการประชุมระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานและข้อเสนอในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคม ในเรื่องมาตรา 63 (2) (7) แนวทางการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการเยียวยาผลกระทบจากการรับบริการทางการแพทย์ ด้วย
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้แทนมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า จากการศึกษามาตรา 63 (2) ขณะนี้พบว่า เห็นเพียงหลักเกณฑ์และอัตราแนบท้ายการตรวจร่างกายสำหรับประชาชนอายุ 15 - 80 ปีขึ้นไปเท่านั้น คือ มีแค่การตรวจสุขภาพ แต่ยังไม่มีแนวทางการส่งเสริมสุขภาพโรคอื่นๆ เลย ซึ่งอาจไม่ตรงกับมาตรา 63 (2) ที่เกี่ยวเนื่องจากการส่งเสริมสุขภาพทั้งหมด แบบนี้ถือว่าผิดเจตนารมณ์หรือไม่ และจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าตรวจสุขภาพ คือ การส่งเสริมป้องกันโรค ที่สำคัญ สปส. ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยบริการมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ควรออกมาพูดให้ชัดเจน นอกจากนี้ ประเด็นมาตรา 63 (2) (7) ยังมีเรื่องเยียวยาการช่วยเหลือทางการแพทย์ เบื้องต้นก็ยังไม่มีการกล่าวถึงในประกาศแนบท้าย
นายมนัส โกศล ประธาน คปค. กล่าวว่า เบื้องต้นทางเครือข่ายต่างๆ มองว่า ประกาศที่ออกมา สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ เหมือนกรณีทันตกรรมจาก 600 บาทต่อปี เป็น 900 บาทต่อปี ก็มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ จากเดิมกำหนดอัตราค่าบริการ เงื่อนไขต่างๆ ก็ปรับปรุงให้เหมาะสมตามข้อเรียกร้อง ดังนั้น ในวันที่ 26 ธ.ค. นี้ เครือข่ายจะเข้าพบ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส. จะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปหารือด้วย รวมถึงข้อเสนอของเครือข่าย ฟ. ฟันสร้างสุข ที่เสนอว่า การตรวจสุขภาพช่องปากจำเป็นต้องมีอยู่ในประกาศด้วย และควรมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าหากตรวจสุขภาพแล้ว พบว่า ผู้ประกันตนมีภาวะของโรคใดๆ ก็ตาม เช่น ไต หรือเบาหวาน ต้องได้รับการรักษาทันที และขอให้หลักเกณฑ์ในการตรวจสุขภาพ ไม่ควรมีการกำหนดช่วงอายุ อย่าง มะเร็งปากมดลูก กำหนดอายุ 30 ปีขึ้นไปตรวจได้ แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ เด็กและวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
นพ.สุรเดช กล่าวว่า ยินดีรับฟังข้อเสนอ โดยทั้งหมดยืนยันว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมาอิงตามข้อมูลวิชาการ โดยทำงานร่วมกับกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยศึกษาและพิจารณาแล้วว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ และจำเป็นกับกลุ่มอายุ แต่หากต้องปรับปรุงในอนาคตก็ยินดี เพราะทาง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับว่า ทุกนโยบายต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนแบบประชารัฐ