xs
xsm
sm
md
lg

จี้ประกันสังคมยกเลิกเงื่อนไข “ค่าทำฟัน” ไม่ได้ 900 บาทตามจริง ทำผู้ประกันตนต้องจ่ายเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปค. เครือข่าย ฟ.ฟัน ยื่นปลัดแรงงาน เพิกถอนบัญชีแนบท้ายค่าทำฟันประกันสังคมเรตราคารัฐให้ไม่ถึง 900 บาท ชี้ ลิดรอนสิทธิผู้ประกันตนต้องออกค่าบริการเองเพิ่ม “ปลัดแรงงาน” เผย กำหนดราคาหวั่นคลินิกตั้งราคาเต็มวงเงิน เตรียมประชุม คกก. แพทย์วาระด่วนพิเศษ

วันนี้ (25 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) ฯลฯ นำโดย นายมนัส โกศล ประธาน คปค. และ ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 2 เดินทางมายื่นหนังสือต่อ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกบัญชีแนบท้ายค่าบริการทันตกรรมของผู้ประกันตน หลังสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มวงเงินค่าทันตกรรมจาก 600 บาทต่อปี เป็น 900 บาทต่อปี เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา

นายมนัส กล่าวว่า มีผู้ประกันตนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ว่า การเพิ่มค่าบริการ 900 บาท แต่กลับมีการกำหนดอัตราค่าบริการส่วนที่เบิกได้เป็นรายบริการตามบัญชีแนบท้าย ซึ่งอิงจากสถาบันทันตกรรม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการเบิกค่าทันตกรรมได้ไม่เต็มจำนวน 900 บาท อย่างขูดหินปูนทั้งปากกำหนดไม่เกิน 400 บาท แต่หากทำตามคลินิกเอกชนราคาก็ประมาณ 500 - 600 บาท ทำให้ผู้ประกันตนต้องร่วมจ่ายเพิ่มอีก 100 - 200 บาท และหากผู้ประกันตนคนนั้นไม่ใช้สิทธิทำฟันอื่น ๆ จนครบปี ก็เท่ากับเสียสิทธิที่จะได้รับค่าบริการจนครบอัตรากำหนดไปฟรี ๆ ซึ่งเงื่อนไขที่กำหนดนั้น มีเพียงค่าผ่าฟันคุดเท่านั้นที่มีจำนวน 900 บาท

“การเพิ่มวงเงิน 900 บาท เป็นเรื่องที่ดี แต่การออกเงื่อนไขเป็นบัญชีแนบท้ายเช่นนี้ ถือว่าลิดรอนสิทธิผู้ประกันตนมาก ยังเทียบกับตอนให้วงเงิน 600 บาททั้งปีไม่ได้เลย เพราะแม้จะวงเงิน 600 บาททั้งปี แต่ก็ไม่มีการกำหนดเพดานค่าบริการทันตกรรมแต่ละรายการว่าเป็นเท่าไร ก็คือ เบิกได้เต็ม 600 บาท แต่พอปรับวงเงินเป็น 900 บาทต่อปี กลับมีการกำหนดขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศแนบท้ายดังกล่าว และหากจะกำหนดอัตราค่าบริการก็ควรอย่างต่ำ 600 บาท ให้ไม่น้อยกว่าของเดิมที่ได้รับ” นายมนัส กล่าว

ทพ.ธงชัย กล่าวว่า การออกเงื่อนไขเช่นนี้ เป็นการบีบบังคับให้ผู้ประกันตนต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลภาครัฐ เนื่องจากอัตราราคาที่กำหนดเป็นของภาครัฐมากกว่า ทั้งที่ผู้ประกันตนกว่า 77.8% เข้ารับบริการที่คลินิกเอกชน และอัตราค่าบริการก็สูงกว่ามาก ทำให้ผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการต้องจ่ายเพิ่มทุกรายการ ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ซึ่งเป็นบริการส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยมารับบริการ จึงขอให้ยกเลิกอัตราค่าบริการแนบท้ายก่อน ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทันตกรรม 900 บาทต่อปี แบบไม่มีเงื่อนไข แต่หากจะหาราคากลางที่เหมาะสม ก็ควรมีการสำรวจการรับบริการ และตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ 1 ชุด โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วม

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า การเพิ่มวงเงินค่าทันตกรรม 900 บาทต่อปี ก็เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เมื่อมีข้อท้วงติงที่ว่าส่งผลต่อผู้ประกันตน ก็ต้องรับฟัง โดยตนจะให้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ ที่มี นพ.ชาตรี บานชื่น เป็นประธาน พิจารณา โดยอาจต้องมีการเรียกประชุมด่วนเป็นวาระพิเศษ เนื่องจากส่งผลต่อผู้ประกันตน คาดว่า จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ แต่ไม่มีการลดอัตราค่าบริการ 900 บาทลง ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการอาจใช้เวลาไม่นานนัก เบื้องต้นน่าจะประมาณ 2 เดือน สำหรับการกำหนดอัตราค่าบริการส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันคลินิกตั้งราคาเต็มวงเงิน มิเช่นนั้น ผู้รับบริการก็จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะเต็มวงเงินไปแล้ว จะไปใช้สิทธิอีกก็ไม่ได้ แต่ยอมรับว่า ราคาที่กำหนดขึ้นอยู่ในราคาของรัฐบาล คลินิกเอกชนอาจจะแพงกว่านี้ ก็ต้องมาหาราคากลางที่ยอมรับ

“เมื่อมีความคิดเห็นคัดค้านก็จะมีการหารือ และนำไปพิจารณาปรับปรุง ทุกอย่างคิดถึงผู้ประกันตนตลอด อย่างเรื่องไม่ต้องสำรองจ่ายก็มีการดำเนินการ และจะทำให้ได้ทั่วประเทศ โดยจะพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เชื่อมโยง ว่า ผู้ประกันตนคนไหนใช้จนครบวงเงินค่าทำฟันแล้วหรือไม่ หากยังก็ใช้ได้อีก แต่หากเกินแล้วก็จะมีการแจ้งให้ทราบว่า ต้องจ่ายส่วนเกินเท่าไร อย่างไร” ม.ล.ปุณฑริก กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น