70 ปีที่แล้ว การควบคุมดูแลผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม และเภสัชกรรม อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 ซึ่งได้นิยามคำว่า “ทันตกรรม” คือ การบำบัดโรคฟัน การช่างฟัน หรือทั้งสองอย่าง โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาเวชกรรมและสาขาทันตกรรม 20 บาท สาขาเภสัชกรรม 10 บาท สาขาอื่น 5 บาท
นอกจากนี้ มาตรา 6 ยังกำหนดให้มีกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ” ประกอบด้วย อธิบดีกรมสาธารณสุขเป็นประธานทำหน้าที่ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ โดยมีอำนาจหน้าที่ 4 ข้อ ได้แก่ 1) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาต 2) สั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต 3) ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาอื่น 4) โฆษณาตามที่เห็นสมควรเพื่อมิให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดอันอาจเป็นอันตรายเนื่องจากการประกอบโรคศิลปะ
ต่อมา ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเวชกรรมมีจำนวนมากพอที่จะจัดตั้งแพทยสภาเพื่อทำหน้าที่การประกอบโรคศิลปะสาขาเวชกรรมขึ้นโดยเฉพาะ สมควรตรากฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมขึ้นเพื่อให้การควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแยกออกจากการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 8 ตุลาคม 2511
ปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปีต่อมาได้รับพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหิดล) เพื่อเพิ่มจำนวนทันตแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในขณะนั้น
เวลาล่วงผ่าน 26 ปี วิชาการและเทคโนโลยีทางด้านทันตแพทยศาสตร์ในประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ประกอบกับจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทันตกรรมที่จำนวนมากขึ้น จึงมีเหตุผลอันสมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพทันตกรรมออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ โดยจัดตั้งทันตแพทยสภาขึ้นทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพทันตกรรมแทนคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ
6 กันยายน 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ. วิชาชีพทันตกรรมขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา โดยมี นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 19 กันยายน 2537 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กันยายน 2537 เป็นต้นมา โดยบัญญัติความหมายของวิชาชีพทันตกรรมว่า เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจ การวินิจฉัย การบำบัด หรือการป้องกัน โรคฟัน โรคอวัยวะที่เกี่ยวกับฟัน โรคอวัยวะในช่องปาก โรคขากรรไกรและกระดูกใบหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับขากรรไกร รวมทั้งการกระทำทางศัลยกรรม และการกระทำใด ๆ ในการบำบัด บูรณะและฟื้นฟูสภาพของอวัยวะในช่องปาก กระดูกใบหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับขากรรไกรและการทำฟันในช่องปาก
นับจนถึงวันนี้ ทันตแพทยสภามีอายุล่วงเข้าทศวรรษที่สอง มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นตัวแทนของสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมในประเทศไทย ทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย การประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ ผดุงเกียรติ ผดุงความเป็นธรรม ควบคุมความประพฤติของสมาชิก ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล รวมถึงการช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นเกี่ยวกับการทันตแพทย์และการทันตสาธารณสุข ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
21 มีนาคม 2559 กรรมการทันตแพทยสภา วาระที่ 8 ได้เริ่มต้นทำงานเป็นวันแรก นับจากนี้ไปจนถึงปี 2562 จะเป็นช่วงเวลา 3 ปี ที่กรรมการทุกท่านจะเดินหน้าทำงานเพื่อพัฒนาวิชาชีพทันตกรรมภายใต้การนำของท่านนายกและนโยบายที่เป็นมติของทันตแพทยสภา
ในนามของเลขาธิการทันตแพทยสภา ผมยินดีรับฟังความเห็น และน้อมรับคำแนะนำจากสมาชิกทุกท่าน เพื่อเป็นแนวทางหรือปรับการทำงานให้สอดคล้องกับยุคสมัยและบริบทของวิชาชีพ เพื่อให้วิชาชีพทันตแพทย์เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่