เลือก “ไพศาล” เป็นนายกทันตแพทยสภาวาระ 8 “อรรถพร” โฆษก สปสช. นั่งเลขาธิการ ลั่นเดินหน้าพัฒนาวิชาชีพหมอฟัน เผยต่ออายุใบอนุญาตฯ ทุก 5 ปี อยู่ระหว่าง สนช. พิจารณา ห่วงหมอฟันไม่เพียงพอ อีสานขาดแคลนหนักสุด ทำ ปชช. ใช้บริการเถื่อน เร่งผลิตเพิ่ม กระจายลงพื้นที่
วันนี้ (1 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมกรรมการทันตแพทยสภา วาระที่ 8 ซึ่งมี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีการเลือกตั้งนายกทันตแพทยสภา และเปิดตัวกรรมการทันตแพทยสภาชุดใหม่ เนื่องจากกรรมการทันตแพทยสภาชุดเดิมจะหมดวาระลงในวันที่ 20 มี.ค. 2559 ซึ่งในที่ประชุมได้มีลงมติเลือก ทพ.ไพศาล กังวลกิจ เป็นนายกทันตแพทยสภาคนใหม่ ผศ.ทพ.ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 1 ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 2 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเลขาธิการทันตแพทยสภา ทพ.นฤมนัส คอวนิช รองเลขาธิการทันตแพทยสภา และ พ.ต.อ.ทพ.พิมล บำรุง เหรัญญิกทันตแพทยสภา ซึ่งกรรมการชุดใหม่จะเริ่มวาระอย่างเป็นทางการวันที่ 21 มี.ค. 2559 และมีการประชุมกรรมการทันตแพทยสภาวาระที่ 8 ครั้งที่ 1 วันที่ 24 มี.ค. 2559 โดยกรรมการชุดนี้มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี (2559 - 2562)
ทพ.ไพศาล กล่าวภายหลังประชุม ว่า ทันตแพทยสภาชุดใหม่จะดำเนินการขับเคลื่อนใน 3 ประเด็น คือ 1. ขับเคลื่อนให้วิชาชีพทันตแพทย์มีความก้าวหน้า มั่นคง ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ความรู้ทางวิชาการ และบริบทสังคม เพื่อเป็นผู้นำด้านวิชาการและวิชาชีพในภูมิภาค 2. ส่งเสริมให้ทันตแพทย์ทั่วประเทศมีส่วนร่วมในกิจการของทันตแพทยสภามากที่สุด ทั้งการรับรู้ และการให้ความคิดเห็นต่าง ๆ และ 3. ทำให้ประชาชนมีความไว้วางใจในทันตแพทย์ เข้าถึงบริการทันตกรรมได้ง่ายขึ้น มีความปลอดภัย และมีสุขภาพอนามัยช่องปากที่ดี ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมจากเดิมที่ให้ตลอดชีวิต มาเป็นการต่ออายุทุก 5 ปีนั้น ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาวิชาชีพทันตแพทย์ให้มีความก้าวหน้า เช่นเดียวกับต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ตัวกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ขณะนี้ทันตแพทย์ในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 14,600 คน ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการทันตกรรม และไปรับบริการจากหมอฟันเถื่อนตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่าง ๆ ซึ่งสัดส่วนของทันตแพทย์ต่อประชากรในพื้นที่ที่เหมาะสมคือ 1 ต่อ 3,000 ประชากร แต่ปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 5,000 ประชากร พื้นที่ที่เป็นปัญหาคือภาคอีสาน โดยบางพื้นที่อัตราส่วนทันตแพทย์อยู่ที่ 1 ต่อ 14,000 ประชากร ถือว่าน้อยมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยผลิตทันตแพทย์ได้ปีละประมาณ 800 คน แต่กำลังจะปรับเพิ่มให้ผลิตทันตแพทย์ได้ปีละ 1,000 คน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปีจึงจะเพียงพอต่อจำนวนประชากร แต่อีกปัญหาที่ต้องคำนึงคือการกระจายทันตแพทย์ให้เพียงพอ เพราะปัจจุบันทันตแพทย์ครึ่งหนึ่งอยู่ใน กทม. และปริมณฑล อีกครึ่งหนึ่งกระจายอยู่ตามต่างจังหวัด แต่ก็ยังคงกระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น โดยผู้ที่เรียนทันตแพทย์ส่วนใหญ่เป็นเด็กในเมือง เมื่อใช้ทุนในพื้นที่ต่างจังหวัดครบ 3 ปีตามกำหนดก็กลับเข้าเมือง จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เด็กในพื้นที่เข้ามาเรียนคณะทันตแพทย์เช่นเดียวกับการเรียนแพทย์ เพื่อเพิ่มจำนวนทันตแพทย์ในพื้นที่ให้มากขึ้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่