อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ หนุนนายกฯ ลงพื้นที่ทั่วอีสาน-เหนือ เชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาคุย เผยพวกบิดเบือนมีเพียบ ค้านคำสั่งรองเลขาฯ คสช. เบรกเลือกตั้งนายกสภาทนายความ ยันไม่ใช่ชุมนุมการเมือง และไม่ได้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชี้ไม่เข้าข่าย ถามทำไมสภาวิชาชีพอื่นถึงเลือกได้ จี้ทบทวน ขู่ไม่เลิกจะทำหนังสือถึงนายกฯ
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 10.30 น. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางไปตรวจราชการที่ จ.อุดรธานี วานนี้ (18 มี.ค.) และได้ถามถึงนักการเมืองอยู่ในที่ต้อนรับด้วยหรือไม่เพราะจะขอคุยด้วย ว่า ตนในฐานะนักการเมือง เห็นด้วยที่นายกฯ เดินทางลงพื้นที่ในภาคอีสาน และภาคเหนือ ขอให้ท่านไปทุกจังหวัด ซึ่งที่นายกฯ ระบุว่า อย่าสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในหมู่คนอีสาน และคนเหนือนั้น อยากให้ท่านนายกฯ เชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในภาคเหนือ และภาคอีสานมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะขณะนี้ยังมีการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนสร้างความแตกแยก ตามที่ท่านนายกฯ พูด ทั้งเพื่อไม่ให้ระบบทักษิณบิดเบือนข้อเท็จจริงที่กำลังทำอยู่จนถึงขณะนี้ในพื้นที่ดังกล่าว
นายวัชระ ในฐานะประธานทนายความรุ่นที่ 16 ในสังกัดสภาทนายความ ยังกล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกหนังสือลงนามโดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิศาสตร์ รองเลขาธิการ คสช. เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ขอให้สภาทนายความชะลอการจัดการเลือกตั้งตำแหน่งนายกสภาทนายความ และคณะผู้บริหาร โดยอ้างเหตุผลการเลือกตั้งสภาทนายความที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 เม.ย.นี้ ขัดคำสั่ง คสช.ที่ 7/2557 ว่าด้วยเรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และคำสั่งที่ 85/2557 ว่าด้วยเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมสั่งให้นายกสภาทนายความ และคณะผู้บริหารชุดเดิมที่กำลังหมดวาระทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนั้นไปก่อนว่า ตนไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งเพราะการเลือกตั้งของสภาทนายความ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีสมาชิกทั่วประเทศ ไม่ใช่เป็นการชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด และสภาทนายความก็ไม่ใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสังกัดกระทรวงมหาดไทย
นายวัชระ กล่าวว่า ดังนั้น ทั้งข้อกฎหมาย และพฤติการณ์ไม่เข้า หรือขัดคำสั่งดังกล่าว เพราะอาชีพทนายความเป็นอาชีพอิสระ เป็นที่พึ่งของประชาชน ถือเป็นฐานรากของกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับองค์กรวิชาชีพอื่น ถามว่าเหตุใดสภาวิชาชีพอื่นทุกสภา เช่น สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกรรม หรือตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย สามารถทำการเลือกตั้งในยุค คสช.ได้ แต่กลับมาห้ามสภาทนายความ จึงขอให้ พล.อ.เฉลิมชัย และ คสช.ทบทวนคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้ หากยังไม่ยกเลิกคำสั่งตนจะทำหนังสือโดยตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าทำไมถึงเลือกปฏิบัติชะลอการเลือกตั้งนายกสภาทนายความ และในอนาคตเมื่อ คสช.หมดอำนาจแล้ว ท่านคิดหรือว่าจะไม่ต้องพึ่งพาทนายความเลยหรืออย่างไร เมื่อมีผู้ฟ้องร้องท่าน