xs
xsm
sm
md
lg

ชงเพิ่ม “ตรวจช่องปาก-ฝากครรภ์” สิทธิตรวจสุขภาพฟรี “ประกันสังคม” ห่วงเพิ่มภาระ รพ.เล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมนัส โกศล
เครือข่ายแรงงานยื่น 5 ข้อเสนอปฏิรูปประกันสังคม ย้ำสิทธิตรวจสุขภาพฟรีไม่ควรจำกัดอายุ เพิ่มตรวจช่องปาก - ฝากครรภ์ในสิทธิตรวจสุขภาพ ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ห่วง รพ.เล็ก ตรวจไม่ได้ตามรายการที่ สปส. กำหนด ต้องส่งแล็บภายนอก เพิ่มภาระ รพ.

จากกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลตามสิทธิ เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2560 โดยแบ่งรายการตรวจตามช่วงอายุและความจำเป็น ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 63 (2) พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งกลุ่มเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) มองว่าเป็นการจำกัดสิทธิ โดยเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกับเครือข่ายแรงงานกว่า 40 กลุ่ม เพื่อยื่นข้อเสนอการขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคม ในหลายๆ เรื่อง

วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ. ฟันสร้างสุข กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายแรงงานอื่นๆ นำโดย นายมนัส โกศล ประธาน คปค. ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข เดินทางมาพบ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าในการปฏิรูประบบประกันสังคม พร้อมยื่นข้อเสนอ 5 เรื่องโดยเฉพาะกรณีสิทธิตรวจสุขภาพฟรี

นายมนัส กล่าวว่า จากการหารือทางเครือข่ายฯ ไเด้ยื่นข้อเสนอต่อเลขาธิการ สปส. จำนวน 5 ประเด็น คือ 1. การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มาตรา 63 (2) และเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ประกันตนกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ มาตรา 63 (7) โดยกรณีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งมีการจัดตรวจสุขภาพฟรีนั้น มองว่ายังขาดการประสานงานกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ซึ่งมีกฎหมายบังคับให้กิจการบางประเภทที่มีความเสี่ยงต้องจัดตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้ว และเมื่อพบว่าป่วยก็ต้องดูแลรักษาโดยใช้เงินจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีเพดานการเบิกอยู่ที่ 1 ล้านบาท ซึ่งหากเกินเพดานจากนี้ก็ต้องประสานการรักษาจากกองทุนรักษาพยาบาลของประกันสังคม แต่ที่ผ่านมายังขาดการประสานข้อมูลกันในการดูแลความต่อเนื่องการรักษาของผู้ประกันตน สำหรับสิทธิตรวจสุขภาพฟรีนั้นยืนยันว่าไม่ควรมีการกำหนดอายุ เพราะทุกคนมีการจ่ายเงินสมทบเหมือนกันถือเป็นการจำกัดสิทธิ

“นอกจากนี้ ยังขอเสนอให้เพิ่มการตรวจสุขภาพช่องปาก และการฝากครรภ์ ให้อยู่ในสิทธิตรวจสุขภาพฟรีดังกล่าวด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าในส่วนของผู้ประกันตนนั้นมักไปใช้สิทธิรักษาทันตกรรมช่วงปลายปีก่อนที่จะหมดสิทธิ ทั้งที่อาจไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพช่องปากจะช่วยให้ผู้ประกันตนรู้ว่าสุขภาพช่องปากของตัวเองเป็นอย่างไร ต้องรักษาในเรื่องใดบ้าง ขณะที่การฝากครรภ์นั้นมักพบว่า ผู้ประกันตนที่ตั้งครรภ์ไม่ค่อยมาฝากครรภ์เหมือนคนในสิทธิบัตรทอง เพราะต้องเสียเวลาในการทำงานและมีค่าใช้จ่าย จึงอยากเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงหลังคลอดมากกว่า การให้สิทธิตรวจสุขภาพครอบคลุมเรื่องการฝากครรภ์ด้วยก็จะช่วยเพิ่มอัตราการฝากครรภ์ได้” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวว่า 2. การเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 39 3.ก ารเร่งรัดการออกอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 จำนวน 17 ฉบับ 4.สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน และ 5. กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพถูกตัดสิทธิการรักษาจากประกันสังคมไปใช้ระบบบัตรทอง หรือเกษียณอายุไปแล้ว ต้องถูกโอนไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลบัตรทองโดยขอให้สามารถเลือกใช้สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมต่อได้

รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพฟรีให้แก่ผู้ประกันตนนั้น ก่อนอื่น สปส. ต้องคุยเรื่องค่าใช้จ่ายรายการตรวจสุขภาพกับแต่ละโรงพยาบาลที่รับผู้ประกันตนก่อน ว่าค่าใช้จ่ายรายการตรวจแต่ละอย่างให้เท่าไร อย่างไร นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลด้วย เพราะอย่างโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่สามารถตรวจสุขภาพได้ทุกรายการตามที่ สปส. กำหนด บางแห่งที่ทำไม่ได้อาจต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ภายนอก ซึ่งราคาก็จะสูงเกินกว่าที่ราคาที่ สปส. ให้หรือไม่ ตรงนี้ก็จะกลายเป็นภาระแก่โรงพยาบาลอีก ที่สำคัญคือโรงพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนจำนวนมากหลักเรือนแสนคน จะมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับจำนวนคนที่ตรวจหรือไม่

“อย่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เรามีการตรวจสุขภาพอยู่แล้ว รวมถึงมีการออกตรวจสุขภาพนอกพื้นที่ เชื่อว่าไม่มีปัญหาในการให้บริการตรวจวุขภาพ เพราะจำนวนผู้ประกันตนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เองก็อยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแต่ละรายการตรวจที่ต้องชัดเจนแล้ว มองว่าหากตรวจสุขภาพแล้วเจอความผิดปกติ แล้วต้องมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่ม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตรงนี้ สปส. รองรับด้วยหรือไม่ เช่น ตรวจพบความผิดปกติของตับ หรือตรวจเจอนิ่ว ที่จะต้องมีการอัลตราซาวนด์เพิ่ม ค่าใช้จ่ายตรงนี้ สปส. ครอบคลุมหรือไม่ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน หรือถือว่าเป็นค่ารักษารายหัวที่ สปส. ให้แต่ละโรงพยาบาลก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่เป็นภาระแก่โรงพยาบาล” รศ.นพ.จิตตินัดด์ กล่าว

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ สปส.ยินดีรับไว้พิจารณา อย่างเรื่องตรวจสุขภาพช่องปาก และการฝากครรภ์ มองว่าน่าจะปรับปรุงเพิ่มเติมได้ ส่วนเรื่องผู้ประกันตนที่เกษียณอายุไปแล้ว และอยากให้ สปส. ดูแลรักษาพยาบาลต่อก็ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป ส่วนการกำหนดอายุการตรวจสุขภาพในแต่ละรายการ ย้ำว่าอิงตามข้อมูลวิชาการของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ว่า กลุ่มวัยนั้นจำเป็นตรวจอะไรบ้าง สำหรับการประสานไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญา เพื่อเริ่มสิทธิตรวจสุขภาพฟรี สปส. ได้ทำหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่งแล้ว คาดว่า จะได้รับพร้อมกันไม่เกิน 2 วันจากนี้ โดยย้ำว่าค่าใช้จ่ายจะคิดตามรายการจริง ไม่ใช่การเหมาจ่าย ซึ่งงบที่ตั้งไว้ 1,500 - 1,800 ล้านบาท ผ่านการคำนวณตามหลักทางคณิตศาสตร์แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ รพ. นำเงินไปใช้ โดยไม่มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการ
กำลังโหลดความคิดเห็น