xs
xsm
sm
md
lg

นักกฎหมายกะเทาะร่าง พ.ร.บ.คุมการตลาดนมผง ช่วยคุ้มครอง “แม่” รับข้อมูลจริง ไม่ถูกนมผงหลอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักกฎหมายกะเทาะร่าง พ.ร.บ. คุมการตลาดนมผง ช่วยปกป้องแม่และเด็กจากโฆษณาและการตลาด “นมผง” คุ้มครองกลุ่มแม่ที่ต้องใช้นมผงเลี้ยงลูก ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ เผย ออกประกาศลูกคุม “นมทั่วไป” พฤติกรรมแตกแถวโฆษณาข้ามกลุ่มได้ ย้ำไม่ขัดหลักเกณฑ์การค้าโลก

จากกรณีความเห็นต่างในร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยเพราะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการกินนมแม่และควบคุมการโฆษณาและการตลาดนมผง และกลุ่มคัดค้านโดยขอให้ลดการควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กจาก 3 ปี เหลือเพียง 1 ปีนั้น

วันนี้ (21 ธ.ค.) ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวทีให้ข้อมูลสาธารณะ “สิทธิแม่ลูก VS นมผงหมื่นล้าน ได้เวลาผ่านกฎหมายคุมตลาดนมผง?” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2559 ว่า ที่ผ่านมา มีการพูดว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความสุดโต่ง และเกิดข้อสงสัยหลายประเด็นในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จึงอยากชี้แจงว่าตามหลักของนักกฎหมายแล้ว การจัดทำร่างกฎหมายจะยึดตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้จึงยึดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน หลังจากนั้น ให้นมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยถึง 2 ขวบ หรือนานกว่านั้น ซึ่งข้อมูลระดับโลกเช่นนี้หากเชื่อถือไม่ได้ถามว่าจะเชื่อใคร แม้คำแนะนำจะไม่ได้เป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย แต่ประเทศไทยก็ลงมติรับรอง ดังนั้น หากไม่เชื่อถือ หรืออยากคัดค้านก็ต้องคัดค้านไปที่รัฐบาลไทย และ WHO ว่าไม่ตรงกับหลักวิชาการ

ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวว่า นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ตามที่มีการแชร์ข้อมูลกันด้วย เพราะ 1. ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างสินค้าชนิดเดียวกัน 2. ไม่เกินความจำเป็น เพราะไม่ได้ห้ามจำหน่าย ห้ามแค่วิธีการโฆษณาและวิธีการส่งเสริมการตลาด 3. ไม่ตามอำเภอใจ คือไม่มุ่งกีดกันทางการค้า แต่มุ่งคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และ 4. สอดคล้องกับมาตรฐานสากล คือ คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพราะฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากการส่งเสริมการตลาดนมผงให้คิดว่านมแม่มีประโยชน์น้อยกว่านมผง หรือมีประโยชน์คุณค่าเทียบเท่านมแม่ รวมถึงคุ้มครองผู้บริโภค กรณีที่แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ จำเป็นต้องใช้นมผง ก็จะได้รับข้อมูลที่เหมาะสมในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ไม่ถูกบิดเบือนจากการโฆษณาที่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใดๆ ของบริษัทนมผง

“ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ย้ำว่า เป็นการควบคุมเรื่องการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ควบคุมการจำหน่าย และควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพราะเรื่องคุณภาพอยู่ในส่วนของกฎหมายอาหาร ดังนั้น แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ไม่ต้องกังวลว่าจะเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์นมผง เพราะสินค้ายังขึ้นชั้นวางได้ ไม่ได้มีการห้ามจำหน่าย เพียงแต่ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาหรือกลยุทธ์การตลาดให้เข้าใจผิดเท่านั้น โดยย้ำว่า เรื่องการให้ข้อมูลของบุคลากรทางการแพทย์สามารถทำได้ ไม่มีมาตราใดที่ห้าม และถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ต้องไม่ใช่การโฆษณา ส่วนบริษัทนมผงกฎหมายกำหนดชัดว่าต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ โดยผลิตภัณฑ์ต้องระบุให้ชัดว่าประกอบด้วยสารอาหารอะไรบ้าง เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ซื้อ เพียงแต่ห้ามกล่างอ้าวสรรพคุณของสารอาหาร เช่น ดีเอชเอช่วยให้ฉลาด เป็นต้น และยังสามารถให้ข้อมูลแก่บุคลากรทางการแพทย์ได้ แต่ต้องมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ที่ควบคุมคือการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดที่เข้าถึงแม่และเด็กโดยตรง และการเข้าถึงโรงพยาบาล” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว

ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวว่า สำหรับการบริจาคของบริษัทนมผง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ สามารถทำได้ แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องไม่มีชื่อหรือตราสัญลักษณ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือสัญลักษณ์ที่ทำให้นึกถึง ส่วนผลิตภัณฑ์นมห้ามบริจาคเว้นแต่อาหารทางการแพทย์สำหรับเด็กที่มีความจำเป็น และควรมีการปิดชื่อผลิตภัณฑ์ไว้ อย่าง รพ.จุฬาลงกรณ์ เมื่อรับบริจาคมาก็มีการปิดชื่อผลิตภัณฑ์ ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง ขณะที่การจัดทำเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับสุขภาพแม่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ใช้หรือสื่อไปถึงผลิตภัณฑ์ ส่วนข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดกฎหมายเช่นนี้จึงมีในประเทศกำลังพัฒนา เพราะว่าบริษัทนมผงถือเป็นบริษัทแม่นั้นล้วนอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว จึงไม่มีการออกกฎหมายที่กระทบอุตสาหกรรมของเขาโดยตรง ที่สำคัญ กลุ่มประเทศเหล่านี้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถการกลั่นกรองข้อมูลได้ และมีการควบคุมประโยชน์ทับซ้อนระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และบริษัทนมที่เข้มข้นมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในทางกฎหมายจะมีการควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไปอย่างไรไม่ให้มีการโฆษณาข้ามกลุ่มมายังผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เช่น กรณีนมสูตร 3 ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวว่า หลัง พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ หากพบว่าอาหารทั่วไปมีพฤติกรรมแตกแถว โฆษณาข้ามกลุ่มสินค้าเหมือนอย่างนมสูตร 3 ก็สามารถออกกฎหมายลูกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อควบคุมหรือเอาผิดได้ เพราะอย่างนมกล่องที่เป้นนมทั่วไปก็ไม่เคยมีการโฆษณาข้ามมายังทารกและเด็กเล็กเลย

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้พื้นที่บริษัทนมผงกำกับดูแลกันเองมาตลอด จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมกันเองได้ มีการละเมิดข้อตกลงมาตลอด จึงขอให้มีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อคุ้มครองแม่ เด็ก และประชาชน ตนอยากเห็นกฎหมายฉบับนี้ผ่าน มีผลบังคับใช้เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กในปีหน้า หากเป็นไปได้ เพื่อเด็กของประเทศไทยได้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงมีคุณภาพ นอกจากนี้ อาจพิจารณาเรื่องการแก้ไขวันลาคลอดสำหรับแม่จาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน เพราะในหลายประเทศก็เห็นความสำคัญและออกเป็นกฎหมายให้ลาคลอดได้ 6 เดือนกันแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น