ยกในหลวง ร.๙ ยอดผู้นำศึกษาดิจิทัล สกศ. พัฒนาหลักสูตรรองรับยุคดิจิทัล ด้าน กสทช. แนะปรับเปลี่ยนวิธีคิด - สอน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการศึกษา
วันนี้ (15 ธ.ค.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุม “สภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum)” ครั้งที่ 13 เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาในยุคดิจิทัล” โดย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำลายรูปแบบการสื่อสารและการเรียนรู้ ระยะห่างของครูผู้สอนและผู้เรียนไม่ต่างกันในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ครูในอนาคตจึงเป็นบุคลากรสำคัญในการชี้นำองค์ความรู้ใหม่ๆ แก่ผู้เรียนที่ต้องการความรู้แนวกว้างเป็นคนที่มีพลังอำนาจด้านความรู้ เพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ในการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวหลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนากลายเป็นชีวิตประจำวันของทุกคน ครูต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด และการสอนรูปแบบใหม่ สร้างการเรียนรู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า เด็กยุคดิจิทัลสร้างความท้าทายการเรียนรู้รูปแบบใหม่ กระบวนการสอน หรือชี้แนะการเรียนรู้ของครูผู้สอนยุคใหม่ต้องพัฒนาเท่าทันการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล ควรตระหนักถึงการผสมผสานบุคลากรยุคดิจิทัลอย่างกลมกลืน เปลี่ยนรูปแบบวิธีการพัฒนาและฝึกอบรมผู้เรียนที่มีการอบรมระยะสั้น เชิงลึก ในรูปแบบปฏิบัติกับยุคดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากมิติการใช้ชีวิตและแนวคิดการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่เปลี่ยนไปแล้ว อย่างไรก็ดี คนไทยยุคดิจิทัลควรใช้เทคโนโลยีอย่างถูกทางและสร้างสรรค์ สร้างความเจริญแก่ประเทศชาติเดินตามพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล คิดค้นการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เปิดโอกาสให้โรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลนครูสามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนได้เท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงไม่ควรตกเป็นทาสเทคโนโลยี รู้จักใช้อย่างพอเพียง เกิดประโยชน์และมูลค่าสูงสุด ไม่ปฏิเสธดิจิทัลแต่ต่อต้านระบบดิจิทัลสกปรก และครูผู้สอนจะเป็นผู้ชี้แนะคุณค่าของเทคโนโลยี และยังคงเป็นความหวังในการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีแก่ผู้เรียนในการสร้างสมรรถนะการแข่งขันของคนไทยในเวทีโลก
ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า รัฐและทุกภาคส่วนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหลักสูตรการศึกษายุคดิจิทัลที่มากกว่าแค่องค์ความรู้ สาระวิชาการ แต่ส่งเสริมการสร้างทักษะรองรับอนาคตยุคดิจิทัลในสัดส่วนที่เหมาะสม และมีนโยบายด้านการศึกษารองรับการจัดระบบหลักสูตร การเรียนการสอน ส่งเสริมให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษาทุกระดับ และลดความเหลื่อมล้ำ และวางหลักสูตร และระบบรองรับที่แม้จะไม่ใช่รูปแบบดิจิทัลแต่เป็นระบบอะนาล็อกดั้งเดิมที่มีรากเหง้าองค์ความรู้ชัดเจนเป็นพื้นฐานวิชาหลักคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การมีเหตุและผล และรู้จักใช้ความคิดวิเคราะห์ที่เข้มแข็งมาเสริมการศึกษาดิจิทัล ทั้งนี้ สกศ. ใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2575 เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาดิจิทัลสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมต่อไป
ด้าน ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในอนาคต ๓ แนวทางสำคัญ ที่ต้องขับเคลื่อน คือ การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน การจัดการระบบการเรียนการสอนแบบดิจิทัลและการพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอน มีการออกแบบรูปแบบหลักสูตร การเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่น และเปลี่ยนแปลงหลักสูตรอย่างเหมาะสมกับผู้เรียนตลอดเวลา เพื่อขับเคลื่อนการเรียนการสอนแบบดิจิทัล ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย วัยทำงาน และผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาคนแห่งอนาคตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล
ดร.เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ผู้อำนวยการสถาบันอินเทอร์เน็ตและก0ารออกแบบ (Net Design) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร กล่าวว่า รูปแบบการศึกษาไทยต้องรีบปรับเปลี่ยนเท่าทันกระแสดิจิทัล ควรเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสนับสนุนอาชีวศึกษาเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศสูง เปลี่ยนบทบาทครูให้เป็นนักเจียระไนเพชร คือ ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
“ครูผู้สอนยุคดิจิทัลจึงไม่ใช่แค่แม่พิมพ์ของชาติอีกต่อไป โดยควรเน้นการชี้แนะ และส่งเสริมผู้เรียนให้มีสมรรถนะการแข่งขันกับโลกได้ เปลี่ยนรูปแบบองค์กรนักศึกษาที่มีรูปแบบเป็นเครือข่ายที่ไม่ใช่ระบบพีระมิด อีกต่อไป มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทุกระดับ เน้นพัฒนาผู้เรียนด้านองค์ความรู้ดิจิทัล การสร้างนวัตกรรม ที่มีคุณภาพสร้างพันธมิตรทางการศึกษา สนับสนุนส่งเสริมให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา สามารถทำงานใหม่ๆ ได้ตลอดเวลาและเติมเต็มระบบการเรียนรู้สามารถแสวงหาความรู้ตลอด 24 ชั่วโมง” ดร.เฉลิมรัฐ กล่าว