ประกันสังคมจ่อปรับฐานคำนวณเงินสมทบใหม่ ปรับฐานเงินเดือนสูงสุดจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ชี้ เงินเดือนเกิน 20,000 บาท จ่ายเงินสมทบเพิ่มจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาท ย้ำปรับฐานคำนวณเพิ่มความมั่นคงผู้ประกันตน รับเงินออมเพิ่ม - เงินชดเชยขาดรายได้เพิ่ม คาด กระทบคนจ่ายเงินสมทบเพิ่ม 20% คาด 6 เดือนออกประกาศเป็นกฎกระทรวง
วันนี้ (7 ธ.ค.) ที่โรมแรมรามาการ์เดนส์ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ว่า ในการปรับเพิ่มกรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมอัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 1,650 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน เป็นต่ำสุดมี 2 แนวทาง คือ 3,600 บาท หรือ 4,500 บาท และสูงสุดเป็น 20,000 บาทต่อเดือน และกรณีมาตรา 39 ซึ่งเดิมใช้ฐานค่าจ้างที่ 4,800 บาทต่อเดือน อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มมาเป็นที่ 7,800 บาท หรือ 6,700 บาทต่อเดือน เป็นการพิจารณาปรับเพิ่มในรอบ 26 ปี ตั้งแต่ที่มีการก่อตั้ง สปส. มา ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยหลักการเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และความมั่นคงของชีวิต นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาปรับเพิ่มทุกๆ 5 ปี เบื้องต้นจะมีการออกเป็นกฎกระทรวง เนื่องจากการแก้ พ.ร.บ. ประกันสังคม มีการใช้เวลานาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค ผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับฐานการคำนวณเงินสมทบใหม่ แต่มีบางส่วนเห็นว่าควรปรับตามสภาพเงินเดือนของแต่ละคน เพราะบางคนเงินเดือนสูงก็อยากให้มีการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเป็นหลักประกันในยามชราภาพ
ผู้สื่อข่าวถามว่า องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เสนอ 5 แนวทางในการปฏิรูปประกันสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการเสนอเรื่องของการปรับฐานการคำนวณเงินสมทบด้วย นพ.สุรเดช กล่าวว่า ขอยืนยันว่าเป็นการปรับเพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ส่วนเรื่องความมั่นคงของกองทุนนั้นมีแนวทางอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การลงทุนในภาคส่วนต่างๆ เป็นต้น ส่วนการร่างกฎหมายคืนสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่หลุดจากการเป็นผู้ประกันตน เช่น การลืมจ่าย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ เป็นต้น ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่มีใครคัดค้าน ขณะนี้ได้ส่งให้กระทรวงแรงงานพิจารณาให้เร็วที่สุด คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน ม.ค. 2560 โดยยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ของขวัญปีใหม่ เพราะของขวัญปีใหม่จาก สปส. นั้น มีการจัดเตรียมไว้อยู่แล้ว ซึ่งจะแจ้งให้ทราบภายหลัง
นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 นั้น การปรับฐานการคำนวณเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 20,000 บาท ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะใช้ฐาน 20,000 บาท ในการคำนวณ แต่ยังคิดตามฐานเงินเดือนจริง ส่วนผู้ที่เงินเดือนสูงเกิน 20,000 บาท ก็จะใช้ฐานคำนวณที่ 20,000 บาท ซึ่งการปรับเพิ่มฐานคำนวณสูงสุดจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท จะมีผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพียง 20% เท่านั้น จากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด 13 ล้านคน เพราะส่วนใหญ่ฐานเงินเดือนจะไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ การคำนวณเงินสมทบจะคิดอยู่ที่ 5% ของเงินเดือน แต่จะได้รับเงินออมอยู่ที่ 6% ดังนั้น จากเดิมฐานคำนวณสูงสุด คือ 15,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบที่ 750 บาทต่อเดือน ได้รับเงินออม 900 บาทต่อเดือน เมื่อปรับเป็น 20,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบสูงสุดที่ 1,000 บาทต่อเดือน แต่ได้รับเงินออมสูงสุดที่ 1,200 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ยังใช้การคำนวณที่ 9% เช่นเดิม โดยปัจจุบันใช้ฐาน 4,800 บาท จะจ่ายสมทบต่อเดือนที่ 432 บาท หากปรับฐานเป็น 7,800 บาท จะจ่ายเงินสมทบที่ 702 บาทต่อเดือน หากใช้ฐาน 6,700 บาท จะจ่ายเงินสมทบที่ 603 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ การปรับเพิ่มฐานคำนวณยืนยันว่าเพื่อความมั่นคงของผู้ประกันตน เพราะเงินที่เพิ่มขึ้นก็ไปเพิ่มในสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของเงินออมและเงินชดเชยการขาดรายได้
“สำหรับการคืนสิทธิครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งต้องออกเป็น พ.ร.บ. คาดว่า จะออกได้ภายใน 6 เดือนนี้ เพราะมีไม่กี่มาตรา และขอย้ำว่า ครั้งนี้จะเป็นการคืนสิทธิครั้งสุดท้าย มิเช่นนั้น จะมีการขอคืนสิทธิไม่หยุดหย่อน ซึ่งในการปรับฐานเงินเดือนและการคืนสิทธิครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนตามมาตราดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น มีเงินออมเพิ่มขึ้น เงินชดเชยการขาดรายได้ก็เพิ่มขึ้นด้วย การปรับฐานการคำนวณนั้นจะมีการออกเป็นกฎกระทรวงแรงงาน ซึ่งอย่างต่ำจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน” นายโกวิท กล่าว
นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล คณะกรรมการประกันสังคมสัดส่วนลูกจ้าง กล่าวว่า จากการพูดคุยกันในกลุ่มลูกจ้างทุกคนเห็นด้วยกับการปรับฐานการคำนวณเงินสมทบ และจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยนึกถึงลูกจ้างและนายจ้าง เห็นว่า ฐานขั้นต่ำ 3,600 บาท และสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาทนั้นอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวอยากให้คนที่เงินเดือนเกิน 20,000 บาท ใช้การคำนวณเงินสมทบตามฐานเงินเดือนจริงเป็นขั้นบันไดด้วย
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนนายจ้าง กล่าวว่า การปรับฐานการคำนวณเงินสมทบ นายจ้างย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นแก่กลุ่มนายจ้าง แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพื่อเสริมสร้างให้ลูกจ้างมีหลักประกันที่มั่นคงขึ้น เชื่อว่า คนส่วนมากเห็นด้วยกับการปรับครั้งนี้ และเป็นขวัญกำลังใจของคนทำงานมากขึ้น ซึ่งหากลูกจ้างมีขวัญกำลังใจที่ดี ไม่มีความกังวลในเรื่องของเงินออม ก็จะทำให้การทำงานออกมามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี ก็ถือเป็นประโยช์กับนายจ้างด้วยเช่นกัน