ผู้พิการหนุน คำสั่ง ม.44 ให้ผู้พิการสิทธิประกันสังคม ได้กลับไปใช้สิทธิบัตรทอง ชี้ ช่วยปลดล็อกคืนสิทธิการรักษาที่หายไปให้กับผู้พิการ
จากกรณีนโยบายการจ้างงานคนพิการ เพื่อให้คนพิการมีงานทำ เลี้ยงดูตัวเองได้ และไม่เป็นภาระนั้น ส่งผลให้คนพิการที่เดิมได้รับสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เมื่อถูกจ้างงานต้องเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งสิทธิการรักษาด้อยกว่า โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ให้ผู้พิการสิทธิประกันสังคมได้รับสิทธิรับบริการสาธารณสุขเทียบเท่าสิทธิบัตรทอง โดยค่าใช้จ่ายยังใช้เงินกองทุนประกันสังคม
วันนี้ (4 ต.ค.) นายวันเสาร์ ไชยกุล ผู้จัดการศูนย์ญาณากร แหล่งเรียนรู้คนพิการ กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำสั่งดังกล่าวที่ให้สิทธิผู้พิการในระบบประกันสังคมสามารถเข้ารับบริการสิทธิบัตรทองตามเดิมได้ มาตรา 44 ที่ออกมาถือเป็นเรื่องดี เพราะตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน และคนพิการไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิเดิมที่เคยมีอยู่แล้ว ที่สำคัญ เราทราบว่า มีการให้ข้อมูลจากคนที่ทำงานกับผู้พิการโดยตรงถึงปัญหาเรื่องสิทธิที่หายไป จึงมาซึ่งคำสั่งนี้มาตรา 44 ครั้งนี้
“ก่อนหน้านี้ เมื่อคนพิการไปทำงานบริษัทและได้สิทธิการรักษาตามระบบประกันสังคม แต่กลับถูกตัดสิทธิที่สำคัญ คือ ท 74 หรือ บัตรทองคนพิการ ดังนั้น คำสั่ง ม.44 ได้ช่วยปลดล็อกตรงนี้ให้ผู้พิการที่ได้สิทธิ์ประกันสังคมสามารถกลับไปใช้สิทธิบัตรทองผู้พิการได้ตามเดิม โดยที่สำนักงานประกันสังคมจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้” นายวันเสาร์ กล่าวและว่า ก่อนที่จะมีคำสั่งมาตรา 44 นี้ออกมา ได้กำหนดว่า ถ้าผู้พิการคนใดออกจากระบบประกันสังคมจึงจะสามารถกลับไปใช้สิทธิบัตรทอง ท 74 ตามเดิมได้ ซึ่งมันทำให้คนพิการไม่สบายใจ เพราะรู้สึกว่า บัตรทอง ท 74 ที่เขาได้สิทธิมาก่อนหน้านี้ครอบคลุมกับเขามากกว่าระบบประกันสังคม เพราะประกันสังคมไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อคนพิการตั้งแต่แรก แต่เน้นการรักษาแบบฟื้นฟู ไม่ได้เน้นเรื่องการเข้าถึงระบบสุขภาพของผู้พิการ ทั้งนี้ เมื่อมีคำสั่งมาตรา 44 ออกมา ก็ช่วยสร้างกลไกที่ถูกต้องกลับมาช่วยคนพิการได้สิทธิตามเดิม
นายวันเสาร์ กล่าวว่า บัตรทองของผู้พิการหรือ ท 74 เข้าใจว่า มีทั้งหมด 76 รายการ เช่น การรักษา การฟื้นฟู การฝึกพูด กายภาพ ซึ่งก็คือ การรักษาโรคทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการโดยตรง ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูแลสิทธิบัตรทองของผู้พิการ ได้ทำการเก็บข้อมูล รับฟังความเห็นของคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นระยะ ๆ เรื่องใดควรอยู่หรือไม่ควรอยู่ในสิทธิ จึงเป็นเหตุว่า ทำไมช่วงแรก ๆ ที่คนพิการที่รู้ว่า ต้องเข้าระบบประกันสังคม จึงไม่อยากเข้าเพราะจะทำให้เขาเสียสิทธิบัตรทอง เนื่องจากประกันสังคมไม่ได้ครอบคลุมการรักษาอะไรมาก
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่