ปธ.กมธ.สธ. สนช. เสนอขยาย กม. บัตรทอง - ประกันสังคม - ข้าราชการ ช่วย “ผู้เสียหายทางการแพทย์” ได้รับเงินทดแทน ไม่พิสูจน์ถูกผิด แทนตั้งกองทุนทดแทน
วันนี้ (26 ก.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ว่า ที่ผ่านมา มีความเห็นต่างต่อร่างกฎหมายดังกล่าวมาหลายปี แต่เป้าหมายที่เห็นเหมือนกัน คือ ต้องการลดคดีฟ้องร้องระหว่างหมอและคนไข้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า แทนที่จะตั้งกองทุนใหม่จากร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ควรจะใช้ช่องทางที่มีอยู่แล้ว มาตรา 41 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และมาตรา 63(7) ของ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2558 รวมเข้ากับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แทนการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายฯ
“สธ. จึงเสนอว่า การขยายมาตรา 41 จะต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ. ประกันสังคม ร่วมไปด้วย โดยไม่ต้องตั้งเป็นกองทุน แต่ใช้เงินของแต่ละกองทุนบริการสาธารณสุขครอบคลุมบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกวิชาชีพ โดยจะมีการเพิ่มวงเงิน แต่จำนวนเท่าไรก็ต้องหารือร่วมกัน ที่สำคัญ ผู้ได้รับผลกระทบมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ซึ่งการคุ้มครองดังกล่าวในส่วนสิทธิสวัสดิการข้าราชการนั้น จะมีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา หมายความว่า ทุกสิทธิสุขภาพจะได้รับการคุ้มครองทั้งหมด” นพ.เจตน์ กล่าว
นพ.เจตน์ กล่าวว่า อยากให้มองเรื่องนี้อย่างกลาง ๆ ให้ได้รับความพึงพอใจทั้งสองฝ่ายมากที่สุด เพราะฝ่ายเห็นต่างมองว่า หากตั้งกองทุนใหม่ มีเงินเยียวยามากขึ้นก็จะนำไปสู่การฟ้องร้องมากขึ้นหรือไม่ เรื่องนี้จึงต้องหาจุดสมดุลให้มากที่สุด แต่หากใช้การเยียวยาเดิมที่มีอยู่แล้ว และเพิ่มเติมวงเงิน บวกกับเพิ่มเติมไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด หากได้รับผลกระทบจะต้องช่วยเหลือทันที ก็น่าจะดีกว่าหรือไม่ ที่สำคัญ จะไม่ใช่แค่ช่วยเหลือเงินกับผู้รับผลกระทบเท่านั้น ยังมีการพิจารณาว่า ควรมีการดูแลพวกเขาไปตลอดชีวิต อย่างหากได้รับผลกระทบจนพิการตลอดชีวิต หากได้รับเงินในการเยียวยาแต่ก็ไม่เพียงพอในแง่คุณภาพชีวิต จึงมองว่าควรมีศูนย์หรือคลินิกในชุมชนคอยดูแล เหมือนกรณี สธ. ดำเนินการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ส่วนจำนวนเงินชดเชยให้คำนึงถึงหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยพิจารณาจากผลกระทบหรือความเดือดร้อนที่ได้รับ พฤติการณ์แวดล้อม ระดับความรุนแรง การบรรเทาเยียวยาหรือความจำเป็นอื่นประกอบด้วย ถ้าผู้ยื่นคำขอไม่พอใจกับจำนวนเงินชดเชยที่กำหนด ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อได้ แต่เมื่อผู้ได้รับผลกระทบ หรือทายาทตกลงยินยอมรับเงินชดเชยแล้ว สิทธิการฟ้องร้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีทั้งปวงเป็นอันจบสิ้น แต่หากจะฟ้องศาลก็ต้องไม่รับเงินชดเชย อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินชดเชยนั้น จะไม่รวมกรณีที่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นตามปรกติธรรมดาของโรคนั้น และผลกระทบซึ่งหลีกเลี่ยงมิได้จากการให้ หรือการรับบริการสาธารณสุขตามมาตรฐาน ทั้งหมด สธ. อยู่ระหว่างจัดทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งหากผ่านก็จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่