xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มสิทธิ “เอชไอวี” ประกันสังคม รับยาต้านทุกคนไม่สนค่าภูมิคุ้มกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สปส. เพิ่มสิทธิผู้ประกันตนติดเชื้อ “เอชไอวี” รับยาต้านทุกคน ไม่ต้องดูระดับภูมิคุ้มกันแบบ “บัตรทอง” สถานพยาบาลเลือกสูตรยาต้านไวรัสตามที่ สปส. กำหนด 20 รายการ เผย เกณฑ์การให้ยาอะทาซานาเวียร์ แก่ผู้ติดเชื้อมีไขมันในเลือดสูงให้เป็นไปตามเกณฑ์ สธ.

วันนี้ (14 ก.ค.) เว็บไซต์ราชกิจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ลงนามโดย นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2559 โดยประกาศดังกล่าว ระบุว่า เพื่อเพิ่มสิทธิให้แก่ผู้ประกันตน โดยให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการบริการทางการแพทย์โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนที่กำหนดแนบท้ายประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 5 มิ.ย. 2556 และให้ใช้หลักเกณฑ์ และอัตราการบริการทางการแพทย์โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนตามที่กำหนดแนบท้ายแห่งประกาศฉบับนี้แทน

สำหรับหลักเกณฑ์และอัตราการบริการทางการแพทย์โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนในแบับใหม่นี้

1. คุณสมบัติของผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีจากสำนักงานประกันสังคม ประกอบด้วย 1.1 ผู้ประกันตนซึ่งได้รับสิทธิบริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 1.2 ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ในผู้ติดเชื้อทุกรายในทุกระดับ CD4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี CD4 น้อยกว่า 500 cells/mm3

2. สำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบยาต้านไวรัสเอชไอวีให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิ โดยการพิจารณาเริ่มยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และการเลือกสูตรยาต้านไวรัส ให้เป็นไปตามแนวทาง การตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยสถานพยาบาลสามารถเลือกใช้ยาต้านไวรัสได้ตามรายการที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ประกอบด้วย

2.1 กรณีพิจารณาเริ่มยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับ CD4 มากกว่า 500 cells/mm3 ควรพิจารณาประเด็นต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด ทั้งกรณีผู้ติดเชื้อที่จะเริ่มยาต้านไวรัสต้องเข้าใจถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของการรักษา เข้าใจประเด็นความสำคัญของ adherence ยินดีที่จะเริ่มยาต้านไวรัสและมีความมุ่งมั่นตั้งใจรับยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ

โดยผู้ติดเชื้อมีสิทธิเลือกที่จะยังไม่รับยาถ้ายังไม่พร้อมในการเริ่มยาต้านไวรัส ในกรณีผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการ ประโยชน์ต่อตัวผู้ติดเชื้อเองยังไม่ชัดเจน แต่มีประโยชน์ในด้านการสาธารณสุขเพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อ ผู้ให้การดูแลรักษาควรพิจารณาเลื่อนการเริ่มยาไปก่อน หากพบมีปัญหาทางสภาพจิตใจหรือสังคมที่ไม่เหมาะต่อการกินยาต่อเนื่อง

2.2 เกณฑ์การใช้ยา Atazanavir ให้ใช้ในกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง โดยให้เป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข กรณีผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา ให้มีการประเมินและจัดการตามระบบหาสาเหตุและพิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเอชไอวีและเอดส์ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้ง

3. กรณีผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา ให้มีการประเมินและจัดการตามระบบหาสาเหตุและพิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเอชไอวีและเอดส์ ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้ง

4. ในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ ข้อบ่งชี้ในการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สูตรยาพื้นฐาน สูตรยาทางเลือก และสูตรดื้อยา ให้ปรับเปลี่ยนข้อ 1 และข้อ 2 เป็นตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดปรับเปลี่ยนขึ้นใหม่

5. หน้าที่และความรับผิดชอบของสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ประกอบด้วย

5.1 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนตามแนวทางการตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาของกระทรวงสาธารณสุข

5.2 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรพื้นฐานสูตรทางเลือก และสูตรดื้อยาให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามที่กำหนดไว้ใน 5.1 สำหรับกรณีที่ผู้ประกันตนมีอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามสูตรพื้นฐาน ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเอชไอวีและเอดส์ ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้งภายในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธินั้น หากสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ให้ส่งแบบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ให้สำนักงานประกันสังคมเพื่อหารือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้ง และสำนักงานประกันสังคมจะส่งผลการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ให้สถานพยาบาล ตามบัตรรับรองสิทธิฯ และให้สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิทุกแห่งเก็บหลักฐานที่ได้อนุมัติไว้เพื่อการตรวจสอบ

5.3 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องยื่นแบบคำขอรับค่าบริการทางการแพทย์ตามแบบที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

5.4 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องบันทึกการให้บริการทางการแพทย์ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวี ให้ใช้การบริหารจัดการคลังยาต้านไวรัสเอชไอวี ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้ทำความตกลงไว้กับหน่วยงานรัฐที่ผลิตยาหรือจัดหายาหลักเกณฑ์การจ่ายค่ายาต้านไวรัสเอชไอวีให้แก่หน่วยงานของรัฐที่ผลิตหรือจัดหายาตามข้อตกลง ในอัตราที่ไม่สูงกว่าราคาตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

หากไม่มีราคาตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขให้ใช้ราคาที่หน่วยงานของรัฐที่ผลิตหรือจัดหายายืนยันว่า ไม่สูงกว่าราคาที่หน่วยงานภาครัฐอื่นจัดซื้อ หากไม่มีให้ใช้ราคาที่เคยซื้อครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปี หากไม่มีราคาที่เคยซื้อครั้งหลังสุด ภายในระยะเวลา 2 ปี หรือมีแต่ราคาสูงกว่าให้ใช้ราคาซึ่งหน่วยงานของรัฐที่ผลิตหรือจัดหายายืนยันว่าไม่สูงกว่าราคาตลาด

อนึ่ง บัญชีรายชื่อยาต้านไวรัสเอชไอวีของสำนักงานประกันสังคม
(1) Zidovudine (2) GPO - vir S30 (3) GPO - vir Z250 (4) Lamivudine (5) Nevirapine (6) Stavudine (7) Zidovudine + Lamivudine (8) Efavirenz (9) Indinavir (10) Ritonavir (11) Didanosine (12) Lopinavir / Ritonavir (13) Atazanavir (14) Tenofovir (15) Abacavir (16) Rilpivirine (17) Tenofovir + Emtricitabine+ Efavirenz (18) Tenofovir + Emtricitabine (19) Abacavir + Lamivudine (20) ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ได้รับการรับรองทางวิชาการและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคม

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น