xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนหนุนจ้างงาน “คนแก่” ลดภาระ กระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาคเอกชน ชี้ แรงงานหน้าใหม่ขาดแคลน ชูจ้างผู้สูงอายุได้มากกว่าเสีย กระทรวงแรงงานหนุนแก้ กม. เกษียณอายุ เชื่อ สูงวัยยังมีศักยภาพทำงานได้ต่อ

วันนี้ (12 พ.ค.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาเรื่อง “แรงงานสูงวัย ลมหายใจของอนาคต” เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของกำลังแรงงานผู้สูงอายุ ที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติในอนาคต และสร้างการรับรู้และเตรียมพร้อม เพื่อรับมือปัญหาด้วยแนวทางการจ้างงานผู้สูงอายุต่อเนื่องในสถานประกอบการ โดยมีนายวิวัฒน์ ตังหงส์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นักวิชาการ และตัวแทนสถานประกอบการเข้าร่วมเสวนา

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว เนื่องจากสภาพการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร โดยการเพิ่มประชากรลดลง คนแต่งงานช้า รวมถึงบางครอบครัวไม่มีทายาท อีกทั้งระบบสาธารณสุขที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้คนมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 76 ปี และอายุขัยเฉลี่ยมีแนวโน้มที่จะอายุยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุยังมีสุขภาพแข็งแรง มีศักยภาพที่ยังทำงานได้อยู่ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าไม่มีการทำงาน หรือมีการจ้างงานจากสถานประกอบการไม่มากนัก เนื่องจากถึงวัยเกษียณ ขณะที่สถานประกอบการก็ขาดแคลนแรงงานที่จะมาทดแทนกลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณอายุออกไป จึงเกิดความไม่สมดุลในระบบแรงงานที่อาจส่งผลไปถึงเศรษฐกิจ แต่เราสามารถเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

“ถึงแม้ว่าสถานการประกอบการ จะไม่มีกฎหมายเกษียณอายุเหมือนกับราชการ แต่ส่วนใหญ่ก็จะให้หยุดทำงานเมื่อถึงอายุ 55 ปี ตามประกันสังคม ทั้ง ๆ ที่ศักยภาพของผู้สูงอายุที่ทำงานอยู่ยังสามารถทำงานได้ต่อได้ โดยมีการปรับรูปแบบงานของผู้สูงอายุตามความเชี่ยวชาญ เช่น งานด้านอาหาร บัญชี หรืองานด้านบริการ ดังนั้น น่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกับระยะเวลาการเกษียณอายุการทำงาน แต่ต้องเป็นไปในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรจะเป็นการก้าวกระโดด เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของแรงงานสูงอายุที่ยังทำงานได้ว่าสามารถทำงานที่ใช้กำลัง หรืองานที่หนักอยู่ได้หรือไม่” นายวิวัฒน์ กล่าว

ดร.วราทัศน์ วงศ์สุไกร จากบริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด กล่าวว่า องค์กรมีนโยบายไม่ให้แรงงานเกษียณอายุ หากยังมีความสามารถและต้องการทำงานต่อไป แม้ว่าจะเลยวัย 60 ปีไปแล้ว โดยถือเป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่ดูแลกันไปจนกว่าจะทำงานไม่ไหว ซึ่งจ้างต่อโดยไม่ลดเงินเดือน แต่หากเห็นว่างานหนักเกินไปก็จะปรับเปลี่ยนไปอยู่หน่วยอื่นที่ไม่ต้องใช้แรงมากนัก สาเหตุที่องค์กรจ้างแรงงานผู้สูงอายุต่อ เพราะถือว่าเป็นแรงงานที่ยังมีคุณภาพอยู่ อีกทั้งผู้สูงอายุก็ต้องการทำงานต่อไปอีก และงานบางอย่างก็จำเป็นต้องใช้ความชำนาญจากประสบการณ์ของแรงงาน และที่สำคัญ องค์กรก็จะได้ความคุ้มค่ากลับมาแม้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มก็ตาม และยังได้ใจแรงงานที่พร้อมจะทุ่มเททำงานเพื่อองค์กรด้วย นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว บริษัทก็จะมีเงินรายเดือนให้ไปตลอดจนกว่าจะเสียชีวิตด้วย

นายชานันท์ วัฒนสุนทร จากบริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทปรับเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ เพราะสาเหตุหลัก คือ ขาดแคลนแรงงาน จากเดิมที่พนักงานหน้าร้านจะรับสมัครบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี แต่เพราะขาดแคลนจึงเปลี่ยนใหม่ให้คนทำงานหน้าร้านมีอายุได้ไม่เกิน 53 ปี ซึ่งเราเห็นว่ากลุ่มคนวัยนี้มีประสบการณ์การทำงานและมีความสามารถในการทำงานได้อยู่ ทั้งนี้ บริษัทก็ยังรับสมัครผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานเช่นกัน แต่ก็ต้องพิจารณาจากสุขภาพเป็นหลัก และหากเลยวัยเกษียณแต่ยังต้องการทำงานและมีศักยภาพเพียงพอ ก็จะเป็นการจ้างในลักษณะปีต่อปี

นายยุทธนา กล้าผจญ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด กล่าวว่า จากเดิมองค์กรให้พนักงานเกษียณอายุที่ 55 ปี แต่นโยบายจากผู้บริหารปรับเปลี่ยนใหม่ เพราะเห็นความสำคัญของแรงงานผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ จึงปรับเป็น 60 ปี และยังให้พิจารณาการสมัครงานของผู้สูงอายุเพิ่มเติม โดยมองถึงความสามารถ ประสบการณ์ และสุขภาพเป็นหลัก รวมถึงบุคลากรเก่าที่อยู่กับบริษัทมานาน แม้ถึงวัยเกษียณไปแล้วแต่ยังต้องการทำงาน และเห็นว่า มีประสบการณที่จะถ่ายทอดไปยังแรงงานใหม่ ๆ บริษัทก็จะจ้างต่อเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐก็ต้องสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ประโยชน์ต่าง ๆ กับสถานประกอบการในกรณีที่มีการจ้างผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยให้สถานประกอบการต่าง ๆ จะได้ตั้งเป็นนโยบายในการจ้างงานผู้สูงอายุให้มากขึ้น เช่น มาตรการด้านภาษี เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการดีและเป็นการสร้างความสมดุลด้วย

ด้าน รศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้การจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุเกิดขึ้นในสถานประกอบการ พบว่า มีหลายปัจจัย คือ 1. การให้ความสำคัญของสถานประกอบการ 2. ความต้องการแรงงานในบางสาขา เพื่อให้สถานประกอบการสามารถรักษามาตรฐานและผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง 3. ความยืดหยุ่นและความสามารถทดแทนระหว่างแรงงานผู้สูงอายุ เป็นตัวช่วยส่งเสริมให้สถานประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนให้แรงงานสูงวัยทำงานในสถานประกอบการได้ต่อไป และ 4. ระบบแรงงานสัมพันธ์และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ประกอบการและแรงงาน ส่วนปัจจัยด้านลูกจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานผู้สูงอายุ จะมีด้านสุขภาพและศักยภาพทางร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยด้านประสบการณ์ การเงิน และที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านลักษณะส่วนบุคคลที่จะรวมถึงทัศนคติของผู้สูงอายุ และทัศนคติของครอบครัว

รศ.ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลเห็นความสำคัญของการจ้างงานผู้สูงอายุ รัฐบาลควรต้องมีการใช้มาตรการตามช่วงระยะเวลา โดยแบ่งเป็นช่วงแรก คือ ระยะสั้น และระยะที่สอง คือ ระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยเป้าหมายทีสำคัญคือเป้าหมายสุดท้ายคือระยะปานกลางถึงระยะยาว

“ทุกสถานประกอบการต้องมีการจ้างงานผู้สูงอายุในอัตราส่วนที่เหมาะสม มีการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งจัดเป็นการดำเนินการตามปกติของสถานประกอบการและต้องมีอยู่ในสถานประกอบการ โดยที่แรงงานแต่ละช่วงอายุสามารถอยู่ร่วมกันได้ และไม่มีการเลือกปฏิบัติด้านอายุ รวมถึงให้ภาครัฐผลักดันให้เป็นนโยบายต่อเนื่อง” รศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น