xs
xsm
sm
md
lg

วัยรุ่นอยู่ตรงไหนในเรื่องเอดส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นิมิตร์ เทียนอุดม
ช้าไปหน่อย แต่คิดว่ายังไม่ช้าเกินไปที่จะพูดถึงวันเอดส์โลก ที่ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แจงตัวเลขคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ในปี 2559 ว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 426,999 ราย มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เสียชีวิตจำนวน 16,122 ราย และเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 6,304 ราย
แม้ว่าภาพรวมอัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขจะลดลงจากปีก่อนๆ แต่ข้อมูลจากคลินิกนิรนามในการติดตามวัยรุ่นที่เข้ามาตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีต่อเนื่องพบว่า กลุ่มอายุ 15 - 19 ปี มีการติดเชื้อสูงเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 20 - 24 ปี และยังพบว่าเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์อายุน้อยสุดเพียง 12 - 13 ปี ซึ่งเป็นไปตามผลการศึกษาอายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
นี่เป็นเพียงข้อมูลจากหนึ่งหน่วยงานที่มีบริการตรวจเอชไอวี หากนำตัวเลขจากหน่วยบริการทั่วประเทศมากางดูกัน ผมเชื่อว่า เราอาจเจอข้อมูลที่น่าตกใจกว่านี้
ก่อนหน้านี้ ผมเคยพูดถึงสถานการณ์เรื่องท้องไม่พร้อมเชื่อมโยงกับปัญหาเอดส์ว่าแท้จริงแล้ว คือปัญหาเดียวกัน กลุ่มคนที่ท้องไม่พร้อมย่อมมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี ยังไม่นับรวมถึงกลุ่มที่มีความกังวลว่าจะท้อง หรือคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่กังวลเรื่องท้อง เพราะคุมกำเนิด แต่ทั้งหมดทั้งมวล กลุ่มคนเหล่านี้ “ไม่ได้ใช้ถุงยาง” ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีทั้งสิ้น
การรณรงค์ป้องกัน ชวนวัยรุ่นให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะด้วยการสอนเพศศึกษา การจัดให้มีแหล่งเรียนรู้เรื่องเพศที่นอกเหนือไปจากในห้องเรียน รวมถึงการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ แต่ไม่ว่างานป้องกันจะทำได้ดีแค่ไหน ผมเชื่อว่า ก็ยังมีวัยรุ่นอีกจำนวนหนึ่งที่มีความเสี่ยงไปแล้ว และมีความจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และหากตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อ ก็ควรเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป
โจทย์สำคัญต่อมา ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะให้วัยรุ่นเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว เพราะการรู้ผลเลือดเร็วมี ประโยชน์ที่จะจัดการวางแผนเรื่องสุขภาพ เราเคยคุยกับผู้รับบริการคนหนึ่ง ซึ่งยังเรียนในระดับมัธยมและไปมีความเสี่ยงมา คือ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางกับแฟน ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ตลอดการสนทนาวัยรุ่นคนนี้ทำให้ผู้ให้บริการปรึกษา เห็นว่า เอชไอวีไม่ได้ต่างจากโรคอื่นๆ น้ำเสียงเขาปกติมาก เมื่อชวนให้เห็นว่าผลเลือดอาจจะเป็นไปได้ทั้งลบ คือ ไม่ติดเชื้อ และบวก คือ ติดเชื้อ เขาก็บอกเราว่า “เป็นก็รักษาครับ ผมยังเรียนอยู่ ยังมีอนาคต ต้องรักษาตัวจะได้มีอนาคตตามที่คิดไว้ครับ”
ผมอยากยกคำพูดของน้องคนนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นทัศนะเชิงบวกต่อการรักษาเอชไอวี/เอดส์ ทำให้เห็นว่าเอชไอวี/เอดส์ เป็นเรื่องที่สามารถ “เกิดขึ้นได้” กับชีวิตของเรา เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็รักษา และใช้ชีวิตต่อไปตามแผนอนาคตที่ได้วางไว้ เพราะเอชไอวี ไม่ใช่อุปสรรคในการดำเนินชีวิต
วัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลัง อย่าปล่อยให้อะไรมาหยุดยั้งพลังของคุณนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น