สธ. แจง “อุดรธานี” ประกาศ ต.นาสะอาด พื้นที่สีแดงเฝ้าระวัง “ซิกา” ไม่ได้ห้าม ปชช. เดินทางเข้าออก เผย แค่ระดับการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ จับตาถึง 19 มิ.ย. ไร้ผู้ติดเชื้อเพิ่ม จึงประกาศพื้นที่ปลอดโรค ระบุผลตรวจหญิงตั้งครรภ์ 2 ราย ติดเชื้อ ไม่กระทบพัฒนาการลูก แต่ต้องเฝ้าระวังถึงคลอด
จากกรณี นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขขังหวัด (นพ.สสจ.) อุดรธานี กำหนดให้ ต.เชียงดาย จ.อุดรธานี เป็นพื้นที่สีแดง เฝ้าระวังเข้มโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ ต.นาสะอาด อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ต.สร้างนาขาว อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เป็นพื้นที่สีเหลืองเฝ้าติดตาม ขณะที่ ผอ.รพ.สต.สร้างนาขาว ได้ส่งหนังสือเวียนถึง อสม. ให้เฝ้าระวังติดตามโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย นอนกางมุ้ง และห้ามการเดินทางเข้าไปยัง 8 หมู่บ้านใน อ.สร้างคอม
วันนี้ (29 พ.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า เป็นเรื่องสืบเนื่องจากที่ไต้หวันพบคนไทยที่ไปทำงานที่นั่นมีเชื้อซิกา ซึ่งชายคนดังกล่าวมาจากพื้นที่ในอุดรธานี คร. จึงแจ้งให้ จ.อุดร ควบคุมโรคตามมาตรการในระดับสูงสุด พร้อมส่งทีมสอบสวนโรคจากส่วนกลางเข้าไปร่วมด้วย แต่ไม่ถึงกับห้ามเดินทางเข้าออก ซึ่งขณะนี้สามารถดูแลควบคุมโรคได้ การออกประกาศของพื้นที่น่าจะเกิดจากความกังวลมากกว่า
ด้าน นพ.สมิต กล่าวว่า การประกาศเป็นพื้นที่สีแดง เป็นการออกประกาศสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เข้มงวดในการดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันโรคเท่านั้น ไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ห้ามเข้าออกสำหรับประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ต้องกังวล ประชาชนยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ และยืนยันว่า เจ้าหน้าที่สามารถดูแลควบคุมโรคได้ โดยมีการให้ความรู้ประชาชนเรื่องทายากันยุง นอนกางมุ้ง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และยุงลายตัวแก่ แต่ยังต้องรอให้พ้น 28 วัน โดยนับจากวันที่ 24 พ.ค. ถึงวันที่ 19 มิ.ย. หากไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จึงจะประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรค ส่วนมาตรการเตรียมความพร้อมแรงงานไปทำงานต่างประเทศจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 30 พ.ค.
นพ.สมิต กล่าวว่า ส่วนกรณีหญิงตั้งครรภ์ 2 คน ที่พบว่า มีการติดเชื้อไวรัสซิกา อยู่คนละหมู่บ้าน คนหนึ่งมีอายุครรภ์ 5 เดือน อีกคนอายุครรภ์ 6 เดือน ได้มีการส่งตัวไปตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูพัฒนาการของทารกในครรภ์แล้ว พบว่า มีการเจริญเติบโตเป็นปกติ ซึ่งหลังจากนี้จะตรวจอัลตราซาวนด์อย่างต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง จนกว่าจะคลอด และมีจิตแพทย์คอยดูแลสภาพจิตใจด้วย ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ทั้งสองคนมีสภาพจิตใจที่ดี ไม่มีความกังวล โดยวันที่ 30 พ.ค. จะมีการเก็บตัวอย่างเลือดของหญิงตั้งครรภ์มาตรวจหาเชื้ออีกครั้ง คาดว่า จะทราบผลในวันที่ 1 มิ.ย. เบื้องต้นหญิงตั้งครรภ์ทั้ง 2 คน ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องเข้มงวดในการทายากันยุงเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายมากัด แล้วแพร่เชื้อต่อ และหากไม่มีกิจธุระที่จำเป็นก็ขอความร่วมมือให้อยู่ในบ้าน ส่วนสมาชิกในครอบครัวไม่พบว่ามีใครติดเชื้อ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่