xs
xsm
sm
md
lg

คร.หนุนใช้ยา “เพร็พ” ป้องกันติดเชื้อเอชไอวีกลุ่มเสี่ยงสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค จับมือ 13 หน่วยงาน หนุนใช้ยา “เพร็พ” ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มเสี่ยงสูง ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ชี้กินยา “เพร็พ” ทุกวัน ป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90%

วันนี้ (16 พ.ย.) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนารูปแบบบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ในประเทศไทย” นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ของระบบบริการสาธารณสุข ของประเทศไทย ร่วมเครือข่าย 13 หน่วยงาน ได้แก่ 1. โรงพยาบาลบางรัก กรุงเทพฯ 2. สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี 3. โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี 4. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี 5. โรงพยาบาลเลิดสิน กรุงเทพฯ 6. โรงพยาบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น 7. โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น 8. โรงพยาบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี 9. โรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต 10. โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี 11. โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา 12. โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา จ.นครราชสีมา และ 13. โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข และคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบัน

นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินงานเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ซึ่งมีการวิจัยที่สำคัญ พบว่า การกินยาต้านไวรัสเพื่อการป้องกัน Pre-Exposure Prophylaxis หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า PrEP (เพร็พ) คือ การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีโดยการกินยาต้านไวรัสทุกวันก่อนสัมผัสเชื้อ โดยร่วมกับมาตรการป้องกันอื่นๆ ทำให้มีประสิทธิผลในการลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรหลักที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด คู่ชายหญิงที่มีผลเลือดต่าง เป็นต้น

นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า จากการศึกษาหลายการศึกษา สรุปว่า การกินยาเพื่อการป้องกันการติดเชื้อให้ได้ผลดีที่สุดในขณะนี้ คือ การกินยาวันละหนึ่งเม็ดทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะป้องกันการติดเชื้อได้กว่าร้อยละ 90 สำหรับประเทศไทย ได้มีแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ปี 2557 แนะนำการใช้เพร็พเพื่อการป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรหลักที่มีความเสี่ยงสูงข้างต้น และเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในการจัดบริการเพร็พเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเพร็พยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้จากชุดสิทธิการรักษาพยาบาลใดๆ ได้ เนื่องจากผู้ที่ต้องการกินยาเพร็พไม่ใช่ผู้ป่วย เพราะฉะนั้น ผู้รับบริการจะต้องรับภาระด้านค่าใช้จ่ายเองก่อน ซึ่งการให้กินยาเพร็พฟรีในประเทศไทย ยังจำกัดอยู่เฉพาะในโครงการเท่านั้น

นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า สาระสำคัญของ MOU ฉบับนี้ คือ การร่วมกันขับเคลื่อน ประสานความร่วมมือ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบการให้บริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีในระดับโรงพยาบาล ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในมาตรการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีแก่ประชาชน เพื่อนำไปสู่การลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ โดยรับการสนับสนุนยาจากกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ มุ่งหวังให้โครงการต้นแบบนี้สามารถนำไปขยายผล เพื่อให้เกิดระบบการบริการป้องกันด้วยยาต้านไวรัสก่อนสัมผัสเชื้อเอชไอวีทั้งประเทศได้ในอนาคต โดยจะเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ต้นแบบ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่ายให้มีความรู้ ความเข้าใจ มีความมั่นใจ และสามารถให้บริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น