xs
xsm
sm
md
lg

อภ.จ่อผลิต “ยาต้านเอชไอวี” สูตรใหม่ รวมยา 3 ตัวในเม็ดเดียว ช่วยกินยาสะดวกขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อภ. จ่อผลิต “ยาต้านเอชไอวี” สูตรผสม 3 ตัวยาในเม็ดเดียว หลังสั่งซื้อเครื่องตอกยาความเร็วสูง 30 ล้านบาท ชี้ ตอกยาสูตรสมแบบ 2 ชั้นได้ ช่วยผู้ติดเชื้อกินยาสะดวกขึ้น ไม่ต้องกินหลายเม็ด คาดผลิตได้ พ.ค. ปี 2560

วันนี้ (24 มิ.ย.) ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวภายหลังพาเยี่ยมชมโรงงานผลิตยารังสิต 1 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ว่า ขณะนี้โรงงานผลิตยารังสิต 1 มีสายการผลิตยา 4 สายการผลิต แบ่งเป็น ยาแคปซูล และยาเม็ดอย่างละ 2 สายการผลิต โดยในปี 2559 คาดว่า จะผลิตยาทั้งหมดได้ 1,136 ล้านเม็ด/แคปซูลต่อปี แต่หากดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังจะสามารถผลิตยาได้ทั้งหมดถึง 3,406 ล้านเม็ด/แคปซูลต่อปี โดยภายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสายการผลิตอีก 1 สายการผลิต ซึ่งจะทำให้ผลิตยาได้ทั้งหมด 6,745 ล้านเม็ด/แคปซูลต่อปี

ภญ.มุกดาวรรณ กล่าวว่า ในปี 2560 จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตครั้งใหม่ และถือเป็นครั้งแรกของไทยด้วยการนำเข้าเครื่องตอกเม็ดยาความเร็วสูงจากเยอรมนี ซึ่งมีความพิเศษสามารถตอกยาได้ 2 ชั้นในกรณียาสูตรผสม โดยกลุ่มยาที่จะนำมาผลิตเป็นล็อตแรก คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะต้องกินยา 2 ตัว ทำให้มีความยุ่งยากในการรับประทาน แต่เครื่องดังกล่าวสามารถตอกยา 2 ตัว ให้อยู่ภายในเม็ดเดียว คือ GPO-VIR T จึงทำให้ผู้ป่วยรับประทานยาได้สะดวกขึ้น โดยยา 2 ตัวดังกล่าวที่จะนำมาตอกเป็น 2 ชั้น คือ 1. ยาสูตรผสม Tenofovir DF 300 มิลลิกรัม+Emtricitabine 200 มิลลิกรัม และ 2. ยา Efavirenz 600 มิลลิกรัม ซึ่งที่ผ่านมายา Efavirenz เป็นยาที่ไม่สามารถผสมกลืนกับยา 2 ตัวแรกได้ เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของยา จึงต้องทำเป็นยาแยก 2 ตัว แต่จากเครื่องดังกล่าวจะทำให้ทั้ง 3 ตัวยา อยู่ได้ในเม็ดเดียว

“เครื่องดังกล่าวนำเข้าจากเยอรมนี มูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท จะติดตั้งในเดือน เม.ย. ปี 2560 และจะผลิตได้ใน พ.ค. 2560 ซึ่งในการผลิตออกมา ยาทั้งสองส่วนจะต้องมีปริมาณยาที่เพียงพอและเท่ากัน ซึ่งจะมีการชั่งน้ำหนักก่อนที่เครื่องจะตอกยาทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันเป็นเม็ดเดียว ซึ่งยาสูตรดังกล่าวมีการใช้ในต่างประเทศแล้ว และสิทธิการรักษาในไทยก็อนุมัติให้ใช้ยานี้เป็นยาขนานแรกในผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ แต่ประเทศไทยยังไม่มีการผลิตทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึงปีละ 300 - 400 ล้านบาท แต่หากเราผลิตยานี้เองได้ก็จะช่วยลดราคายาลงอีก” รอง ผอ.อภ. กล่าว



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น