เอเจนซีส์ - นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ในสหราชอาณาจักร ที่ร่วมกันทำงานศึกษาทดลองถึงความเป็นไปได้ที่จะรักษาการติดเชื้อไวรัส “เอชไอวี” ได้ระบุว่า พวกเขามีความคืบหน้าอย่างมาก หลังจากทดสอบกับผู้ป่วยแล้วพบว่าไม่มีสัญญาณของไวรัสหลังการรักษา
การวิจัยดังกล่าว ซึ่งดำเนินการร่วมกันระหว่าง 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ โดยได้รับการสนับสนุนจากเอ็นเอชเอส เป็นการผสมผสานระหว่างยาต้านไวรัส ยากระตุ้นเชื้อเอชไอวีที่สงบนิ่งอยู่ และวัคซีนที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ
ทั้งนี้ ลำพังแค่ยาต้านไวรัสเพียงอย่างเดียวนั้น มีประสิทธิภาพแค่เฉพาะหยุดไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวน แต่ไม่ทำลายไวรัสมรณะชนิดนี้ จึงทำให้ผู้ป่วยต้องรับยาไปตลอดชีวิต
หนังสือพิมพ์ ซันเดย์ ไทม์ รายงานว่า มีผู้ป่วย 50 ราย เข้าร่วมการทดลองนี้ การทดสอบระยะเริ่มต้นในผู้ป่วยรายแรก แสดงให้เห็นว่าไม่มีสัญญาณของเชื้อไวรัสดังกล่าวในกระแสเลือดของผู้ป่วยหลังการรักษา
แต่หนทางยังคงอีกยาวไกล กว่าจะประกาศได้ว่าการรักษาประสบความสำเร็จ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีผู้ป่วยที่คิดว่ารักษาหายแล้ว แต่ไวรัสมรณะตัวนี้ก็โผล่มาให้เห็นอีก นอกจากนี้ การใช้ยาต้านไวรัสยังทำให้นักวิจัยไม่อาจแน่ใจได้ว่าเชื้อเอชไอวีจะหมดสิ้นไป อย่างไรก็ตาม ยังสามารถมองได้ในแง่ดีเกี่ยวกับการค้นพบนี้
มาร์ค ซามูเอล จากสำนักงานศึกษาวิจัยพื้นฐานในเชิงคลินิก สถาบันวิจัยสาธารณสุขแห่งชาติ บอกว่า นี่คือหนึ่งในความพยายามอย่างจริงจังที่จะรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีแบบหมดจด ทีมงานได้สำรวจถึงความเป็นไปได้อย่างแท้จริงในการรักษาเอชไอวี นี่เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ และมันก็ยังอยู่ในช่วงแรก ๆ แต่ความคืบหน้านั้นถือได้ว่าโดดเด่นน่าจับตา
เชื้อไวรัส “เอชไอวี” นั้นสามารถหลบซ่อนตัวจากระบบภูมิคุ้มกันด้วยการแอบอยู่ในเซลล์ที่สงบนิ่ง ซึ่งการทดสอบที่มีความซับซ้อนสูงสมัยใหม่นั้นไม่อาจหามันพบ ดังนั้น เพื่อรับมือกับกรณีนี้ การรักษาแบบที่ทดลองอยู่จึงต้องพยายามหลอกไวรัสให้ปรากฏตัวออกมาจากที่ซ่อน จากนั้นจึงกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรับรู้ถึงตัวเชื้อไวรัส แล้วก็เล่นงานมัน วิธีการแบบนี้ถูกเรียกว่า “คิก แอนด์ คิล” (เตะมันออกมาแล้วฆ่ามัน)
ทั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 37 ล้านคนทั่วโลก ส่วนคนที่ตายไปแล้วเพราะไวรัสมรณะชนิดนี้ มีประมาณ 35 ล้านคน
เป็นเรื่องยากที่จะประกาศว่าผู้ป่วยนั้นปลอดจากเชื้อเอชไอวี เพราะเคยมีกรณีของเด็กหญิงในมิสซิสซิปปี้เมื่อปี 2010 ที่ได้รับคอร์สยาต้านไวรัสแบบเข้มข้นในช่วง 30 ชั่วโมงแรกตอนที่เธอเกิด หลังจากพบว่าแม่ของเธอนั้นติดเชื้อเอชไอวี
การรักษามีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งโรงพยาบาลขาดการติดต่อจากแม่ของเธอในอีก 18 เดือนต่อมา แต่หลังจากขาดการติดต่อไป 5 เดือน แม่ - ลูกคู่นั้น ก็ปรากฏตัวอีกครั้ง ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือด ทำให้เกิดมีหวังขึ้นมาว่าเด็กคนนี้หายแล้ว แต่สุดท้ายในอีก 2 ปีต่อมา เชื้อไวรัสเอชไอวีก็ปรากฏตัวขึ้นมาอีก
มีเพียง “ทิโมธี เรย์ บราวน์” แค่คนเดียวที่เชื่อกันว่าได้รับการรักษาจนหาย เขาเป็นชาวอเมริกันที่เข้ารับการรักษาในเยอรมนี ชายคนนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกเพื่อทดแทนเซลล์มะเร็งของเขาด้วยสเตมเซลล์ ซึ่งนั่นเป็นการสร้างระบบภูมิคุ้มกันของเขาขึ้นมาใหม่ หมอของเขาพบว่าผู้บริจาคไขกระดูกนั้นมีภูมิต้านทานการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม ซึ่งช่วยขัดขวางไม่ให้เชื้อเอชไอวีเข้าสู่เซลล์ในร่างกายมนุษย์
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนถ่ายสเตมเซลล์นั้น เป็นเรื่องยากและมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อผู้รับ ดังนั้นจึงทำกันเฉพาะในกรณีที่ต้องรักษาชีวิต