xs
xsm
sm
md
lg

องค์การอนามัยโลกห่วงพม่าไม่พร้อมรับมือไวรัสซิกาหวั่นระบาดหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เจ้าหน้าที่ออกพ่นยากำจัดยุงตามถนนในนครย่างกุ้ง เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกระบุว่าพม่ามีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะมีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาจำนวนมาก เนื่องจากยังขาดการรณงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและผลกระทบจากเชื้อไวรัสชนิดนี้. --  Reuters/Soe Zeya Tun.</font></b>

รอยเตอร์ - ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า พม่ายังไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา ด้วยกระทรวงสาธารณสุขปรับลดมาตรการป้องกันไวรัสเนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ ขณะเดียวกัน แพทย์ที่มีอยู่ต่างทำงานหนักมากเกินไปจนข้ามการตรวจสุขภาพ และบรรดาหญิงตั้งครรภ์ระบุว่า พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส

ดร.จอร์เก้ เอ็ม ลูน่า หัวหน้าองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำพม่า เตือนว่า พม่ามีแนวโน้มที่จะประสบต่อภาวะมีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาจำนวนมาก ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ เช่นที่เวียดนาม มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า หรือในไทยที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 33 ราย ในสัปดาห์นี้

พม่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายแรกของประเทศเมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน ทำให้พม่าเพิ่มการตรวจสอบ และยกระดับมาตรการป้องกันยุง

แต่จากการสัมภาษณ์หญิงตั้งครรภ์ แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่า 10 คน พบว่า ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 51.5 ล้านคนแห่งนี้ กำลังดิ้นรนที่จะแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับไวรัส หรือการป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่ระบาด

ที่โรงพยาบาล Yangon Central Women ในนครย่างกุ้ง เต็มไปด้วยหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 100 คน และบางคนใช้เวลารอพบแพทย์มากกว่า 3 ชั่วโมง

“ฉันต้องการสอบถามคุณหมอเกี่ยวกับไวรัสซิกา แต่พวกเขายุ่งกันมาก” ซาน ซาน เอ อายุ 42 ปี ที่ได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับไวรัสซิกาจากเพื่อนแต่ยังไม่แน่ใจถึงผลกระทบของเชื้อไวรัสต่อครรภ์ของตัวเอง กล่าว

ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารที่กินเวลายาวนานเกือบ 50 ปี ทำให้เศรษฐกิจ และการบริการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพ และการศึกษาที่ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า พม่ามีแพทย์เพียง 0.6 คน ต่อประชาชน 1,000 คน ซึ่งมีสัดส่วนน้อยกว่าในคาซัคสถานถึง 6 เท่า ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพรวมทั้งหมดอยู่ที่ 20.3 ดอลลาร์ต่อคน หรือน้อยกว่าไทยราว 18 เท่า ส่วนโรงพยาบาลก็มีสภาพแออัด ทรุดโทรม และมักขาดอุปกรณ์พื้นฐาน

ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลย่างกุ้ง ไม่พบสติกเกอร์ หรือป้ายใดๆ ที่แจ้งเตือน หรืออธิบายเกี่ยวกับไวรัสซิกา ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ระบุว่า พวกเขาไม่ทราบวิธีที่จะให้ความรู้ผู้ป่วยเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ ส่วนตามโรงพยาบาลรัฐขนาดเล็ก พยาบาลมักจะเป็นผู้ตรวจสุขภาพแทนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่บางครั้งไม่มาตามตารางนัดหมาย

ดร.ตัน ทุน อ่อง ที่รับผิดชอบในส่วนของการตอบโต้ฉุกเฉินไวรัสซิกาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแพทย์ หมายความว่าแพทย์ที่มีอยู่จะไม่สามารถมาตามนัดหมายได้ทุกครั้ง ส่วนพยาบาลที่ผ่านคุณสมบัติจะเป็นผู้ตรวจผู้หญิง

.

.

ในการแถลงข่าวที่จัดขึ้นอย่างเร่งด่วนภายหลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายแรกในพม่า ที่ได้รับการยืนยันจาก ดร.โซ ละวิน นาย ผู้อำนวยการกรมสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขพม่า ได้เรียกร้องให้ผู้หญิงหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ในระยะ 6 เดือนต่อจากนี้

คำแถลงดังกล่าวสร้างความสับสนต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพของพม่า ที่กล่าวว่า พวกเขาไม่เข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคำแนะนำดังกล่าว และจากคำแถลงนั้น หมายความว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายอื่นๆ หลังจากช่วงระยะเวลา 6 เดือนหรือไม่อย่างไร ซึ่งสิ่งนี้ทำให้พวกเขาไม่เต็มใจที่จะหารือเรื่องความเสี่ยงกับผู้ป่วย แพทย์ และพยาบาลกล่าวต่อรอยเตอร์

ดร.จอร์เก้ เอ็ม ลูน่า กล่าวว่า คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ การให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับความเสี่ยง และผลกระทบต่อทารกแรกเกิดแก่คู่สามีภรรยา แต่การตัดสินใจว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับคู่สามีภรรยา

ดร.ตัน ทุน อ่อง กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้รับการอบรมเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติต่อไวรัสซิิกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ระหว่างการอบรม เราได้บอกพวกเขาถึงวิธีการที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยถึงการหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อไวรัสซิกาผ่านการมีเพศสัมพันธ์” ดร.ตัน ทุน อ่อง กล่าว

แต่ในนครย่างกุ้ง ดร.ตุน ละวิน หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขประจำเขต กล่าวว่า ไวรัสซิกาไม่ใช่สิ่งสำคัญลำดับแรกเมื่อเทียบกับโรคไข้เลือดออก และโรคอื่นๆ ที่มียุงเป็นพาหะ และรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่จะดำเนินการรณรงค์ทางสาธารณสุขเกี่ยวกับเชื้อไวรัส แต่มีเจ้าหน้าที่บางส่วนรณรงค์ด้วยเงินส่วนตัว

ดร.ตัน ทุน อ่อง จากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มาตรการในการควบคุมยุงในเมืองต่างๆ มีความคืบหน้าล่าช้าเนื่องจากขาดแคลนบุคลากร และงบประมาณ รัฐบาลต้องการที่จะตรวจสอบหญิงตั้งครรภ์ นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติทั้งหมด แต่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ เนื่องจากการตรวจสอบนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง.
กำลังโหลดความคิดเห็น