นักวิชาการ ชี้ “ผังเมือง” ไม่เอื้อเดินเท้า - ปั่นจักรยาน ทำสุขภาพเสีย ใช้รถยนต์ส่วนตัวก่อ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” สัมพันธ์เกิดโรคหัวใจ พ่วงมลภาวะเยอะ เกิดโรคระบบทางเดินหายใจได้มากกว่า เสนอรัฐปรับโครงสร้างพื้นฐานเป็นทางสีเขียว เน้นเดิน - จักรยาน พร้อมป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
ศ.บิลลี่ กิลส์-คอร์ติ (Billie Giles-Corti) มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง “ผังเมืองและการขนส่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ” ในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพครั้งที่ 6 (ISPAH 2016 Congress) ว่า ผังเมืองและระบบการขนส่ง ถือว่ามีผลต่อการมีกิจกรรมทางกายและสุขภาพของประชาชนในเมืองอย่างมาก ซึ่งการวางผังเมืองที่เอื้อต่อการเดินเท้าและขี่จักรยานจะช่วยให้คนในเมืองนั้น มีกิจกรรมทางกายมากยิ่งขึ้น แต่ที่น่าห่วงคือ กลุ่มประเทศรายได้ระดับปานกลาง ซึ่งเป็นเมืองกำลังเจริญเติบโต มีการพาหนะเพิ่มขึ้น เท่ากับว่า มีมลภาวะต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพของร่างกาย การใช้รถยนต์ส่วนตัวส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ที่สำคัญ อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลต่อความกลัวในเรื่องของสุขภาพจิต นอกจากนี้ หลายเมืองทั่วโลกยังกังวลเรื่องของการขี่จักรยานแล้วเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากโครงสร้างถนนไม่ดีพอ ดังนั้น การจะสร้างเมืองให้เอื้อต่อการเดินเท้าหรือขี่จักรยาน จะต้องมีการออกแบบชุมชน วางกฎหมาย และวางผังเมืองให้เอื้อต่อการเดินเท้า ขี่จักรยาน และ การใช้ขนส่งมวลชน โดยกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงคมนาคม ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก
“การจะออกแบบผังเมืองต้องคิดในมุมกว้าง ต้องพิจารณาวางเครือข่ายท้องถนนเชื่อมโยงกันอย่างไร ความหนาแน่นของเมือง ของคน ความหลากหลายการใช้ที่ดิน รูปแบบที่อยู่อาศัย ตัวบ้านเป็นอย่างไร ระยะทางในการเปลี่ยนรถเดินทาง โดยต้องทำให้เมืองมีขนาดเล็กลง เพื่อให้คนเดินและขี่จักรยานได้มากขึ้น นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงเรื่องของการจ้างงานด้วย ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ภายในเมือง ก็จะทำให้คนเข้าเมืองมามากขึ้น แต่ต้องกระจายการจ้างงานไปรอบๆ เมืองด้วย และจะมีขนส่งมวลชนในการขนคนเข้ามาทำงานอย่างไร ขณะที่อุปสงค์ในเรื่องของการใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำให้มีปัญหาเรื่องที่จอดรถก็ต้องควบคุมในเรื่องเหล่านี้” ศ.บิลลี่ กล่าว
ศ.มาร์ค สตีเวนสัน มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ระบบการคมนาคมของเมืองจะส่งผลลัพธ์ต่อสุขภาพของคนในเมืองด้วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลระบบคมนาคมใน 6 เมืองขนาดใหญ่ เมื่อปี 2014 คือ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย, เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา, กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, กรุงเดลี ประเทศอินเดีย, กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และ นครเซาเปาโล ประเทศบราซิล ซึ่งแต่ละเมืองก็จะมีรูปแบบการคมนาคมที่แตกต่างกันไป อย่างกรุงโคเปนเฮเกน พบว่า มากกว่า 53% เน้นการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด พบว่า เมืองที่มีการใช้รถเยอะ โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนตัว ส่งผลต่อสุขภาพของคนในเมืองมากกว่าการเดินทางโดยระบบอื่น คือ การเดิน และ ขี่จักรยาน โดยเฉพาะโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคที่สัมพันธ์กับการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ รวมถึงโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ ที่มาจากภาวะมลพิษทางอากาศ เป็นต้น ที่น่าห่วงคือ หลายๆ เมืองของแต่ละประเทศมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น สหรัฐฯ จีน และ อินเดีย มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ว่าราชการของแต่ละเมืองและโครงสร้างของเมืองต้องรองรับตอบสนองต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการขนส่ง
“ขณะนี้หลายๆ เมืองพยายามสร้างทางสีเขียวขึ้น โดยปรับลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แล้วหันมาสนับสนุนให้เกิดการเดินและการขี่จักรยานเพิ่มมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ จะต้องทำให้เมืองเล็กลง เพื่อเอื้อให้เกิดการเดินและใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาคือ จะเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะต้องคำนึงและป้องกันคนเดินเท้าหรือใช้จักรยานที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นด้วย” ศ.มาร์ค กล่าว